contact-button

ติดต่อเรา

ภาวะขาดการนอนหลับ สัญญาณบ่งชี้ ผลเสียจากการขาดนอนหลับที่ทำให้เกิดความผิดปกติ

What is Sleep Deprivation by ณพสิทธิ์ 03/07/23


การอดนอน อันตรายหรือไม่


การนอนหลับที่มีคุณภาพและเพียงพอจะทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอรวมถึงร่างกายจะฟื้นตัวและความรู้สึกสดชื่นจะกลับมาอีกในวันรุ่งขึ้น

แต่มีคนจำนวนไม่นอนที่ตื่นในช่วงเช้าแต่ไม่สดชื่น และระหว่างวัน มีอาการง่วงและอ่อนเพลียเสมอๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่า คุณมีการนอนไม่พอจึงส่งผลต่อร่างกาย ถ้ายิ่งประสบปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพของร่างกายจะแย่ลงเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด

หนึ่งในสาเหตุที่เป็นกันมากคือ การขาดการนอนหลับ เรียกง่ายๆ คือ การนอนไม่พอ หรือ อดนอน นั่นเอง หากคนที่เป็นอย่างต่อเนื่องยาวนานจะเรียกว่า ภาวะขาดการนอนหลับเรื้อรังหรือ Chronic Sleep Deprivation ซึ่งมีความอันตรายทั้งต่อสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง เรามาศึกษาว่าปัญหาคืออะไร มีผลกระทบอะไรจากบทความนี้ครับ


ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมสำหรับคนในแต่ละวัย

ชั่วโมงการนอนหลับที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละวัย

ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลนั้นไม่เท่ากัน มีหลายปัจจัยอาทิ กรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม โรค และที่ขาดไม่ได้คืออายุของบุคคลนั้น โดยในเด็กเล็กจะนอนมาก ขณะที่เมื่อสูงอายุมากขึ้นก็จะนอนน้อยลง

คำแนะนำแรกสำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิตในบุคคลวัยทำงานและวันเรียน คือ ให้นอนให้เพียงพอ !

ขณะที่ในผู้สูงอายุจำนวนมากมักประสบปัญหานอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือตื่นก่อนเวลาที่ตั้งใจไว้ ซึ่งทำให้ได้เวลานอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาขาดการนอนหลับตามมาได้ สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ในผู้สูงอายุให้เริ่มจากการแก้ไขภาวะนอนไม่หลับก่อนโดยศึกษาได้เพิ่มเติมจาก บทความ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) หลับยากตื่นง่าย คืออะไร

สัญญาณหรือข้อบ่งชี้สำคัญว่าคุณกำลังนอนไม่พอ (Sleep Deprivation)

คนจำนวนมากมีอาการเหล่านี้ จากสถิติโดย Philips Global Sleep Survey, 2019 พบว่าประชากร 62% บอกว่าพวกเขายังไม่พึงพอใจกับการนอนของตนเอง ซึ่งคุณอาจจะเป็นหนึ่งในนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้เรามีดูกันต่อว่าหากนอนไม่พอจะเกิดปัญหาอะไร


คุณหรือคนรอบข้างของคุณมีอาการของภาวะนอนหลับไม่เพียงพอเหล่านี้หรือไม่ ?

สัญญาณว่าคุณกำลังนอนไม่เพียงพอ หรือ ขาดการนอนหลับ

ผลกระทบจากการอดนอน หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ (Sleep Deprivation)


1. ระบบประสาทส่วนกลาง

ภาวะการอดนอนมีผลกระทบต่อ ระบบประสาทส่วนกลางทำให้ยากที่จะโฟกัสหรือจดจ่อกับสิ่งต่างๆ อาจจะทำให้เกิดการดีเลย์ หากอดนอนมากพอมีอันตรายมาก หากผู้ที่อดนอนขับขี่ยานพาหนะเนื่องจากจะส่งผลให้การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้าลงไม่แตกต่างจากการดื่มแอลกอฮอล์

หากการอดนอนเกิดขึ้นต่อเนื่อง เราจะเรียกว่า ภาวะขาดการนอนหลับเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น บ้านหมุน หูแว่ว ภาพหลอน หรืออาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการ Mania ในคนที่มีอาการของโรคไบโพล่า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ทางจิตเวช อาทิ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือแม้แต่ภาวะคิดทำร้ายตัวเอง

2. ระบบภูมิคุ้มกัน

ระหว่างการนอนหลับ ร่างกายจะสร้าง Antibody และ Cytokine เพื่อใช้ในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่รุกล้ำเข้ามาในร่างกายทั้งแบคทีเรีย และไวรัส การอดนอน หรือ ภาวะขาดการนอนหลับ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้นจะพบว่าคนที่มีภาวะขาดการนอนหลับเรื้อรังจะป่วยได้ง่ายกว่าคนปกติ

3. ระบบการหายใจ

ระบบการหายใจและการนอนหลับมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจจะทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ หรือ Obstructive Sleep Apnea ซึ่งจะรบกวนการนอนของคุณ และทำให้ตื่นได้ การตื่นระหว่างคืนนี้เอง ทำให้เกิดอาการนอนไม่พอได้เช่นกัน

คุณสามารถศึกษาเรื่องนี้ได้เพิ่มเติมจาก นอนกรนสัญญาณอันตราย เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

4. ระบบย่อยอาหาร

ระบบการย่อยอาหารเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนสองตัวคือ Leptin และ Ghrelin ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึก อิ่ม หรือ หิว โดย Leptin จะบอกสมองว่าเราได้ทานอาหารเพียงพอแล้ว หรือ อิ่ม ซึ่งหากเรานอนไม่พอ หรือ อดนอน สมองจะสั่งให้ลด Leptin และ เพิ่ม Ghrelin ซึ่งพูดง่ายๆ คือ หากเราอดนอนเราจะรู้สึกหิว และต้องการกินนั่นเอง นี้จะอธิบายได้ถึงหลายๆเหตุการณ์ที่เราต้องทำงานข้ามคืนโดยไม่ได้นอน เราจะหิวและจะกินมากกว่าปกติ

หากคุณมีภาวะขาดการนอนหลับ คุณจะรู้สึกเหนื่อยล้า เกินกว่าจะออกกำลังกาย รวมถึงการกินมากกว่าปกติ ทำให้คนที่อดนอนบ่อยๆ อ้วนได้ง่ายกว่าคนที่มีสุขภาวะการนอนปกติ นอกจากนี้การอดนอน ยังทำให้ร่างกายหลังฮอร์โมน Insulin น้อยกว่าปกติ ซึ่ง Insulin นี้เองที่เป็นตัวช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด กระบวนการดังที่กล่าวมานี้ จึงทำให้คนที่มีภาวะขาดการนอนหลับเรื้อรังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และโรคอ้วนมากกว่าคนปกติ

5. การเจริญเติบโต

ช่วงเวลาที่เรานอนหลับเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญและจำเป็นในการเจริญเติบโตของเด็ก ทั้งเพิ่มความสูง และเสริมสร้างอวัยวะต่างๆ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง สำหรับในวัยผู้ใหญ่จะใช้ในการซ่อมแซมร่างกายและส่วนที่สึกหรอ การที่เรามีภาวะขาดการนอนหลับ จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้น้อยและมีเวลาในการซ่อมแซมน้อยกว่าปกติ ทำให้ผิวแก่ง่าย และร่างกายทรุดโทรมเร็วกว่าคนวัยเดียวกัน


Home Sleep Test

ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา

Reference