contact-button

ติดต่อเรา

นอนกรนเกิดจากอะไร เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) หรือไม่

What is snore? How can Snore induce risk of obstructive sleep apnea? by ณพสิทธิ์ 21/4/22


นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

สารบัญ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน



นอนกรนเกิดจากอะไร เสียงกรนนั้นมาจากไหน

เสียงกรนนั้นเกิดจากการกรนอันเกิดขึ้นเมื่อเวลานอนหลับกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจหรือ Airway หย่อนคล้อยลงและถูกอุดกั้นบางส่วนหรือตีบแคบกว่าปกติทำให้ลมที่ไหลผ่านปากและจมูกไม่สามารถไหลได้สะดวก โดยอวัยวะบริเวณนี้คือส่วนของทางเดินหายใจที่สามารถเปิดปิดได้ เป็นส่วนที่บรรจบกันของลิ้น คอส่วนบน เพดานอ่อน และลิ้นไก่ โดยเสียงกรนเกิดขึ้นจากการสั่นกระพือของโครงสร้างส่วนนี้ระหว่างการหายใจ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าทางเดินหายใจของคุณตีบแคบกว่าปกติขณะนอนหลับทำให้เกิดการนอนกรน

มีประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 20-40% ที่นอนกรนเป็นปกติขณะหลับ และประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรที่นอนกรนเป็นบางครั้งคราว เช่น เมื่อเหนื่อยมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตามเสียงกรนอาจจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ก็เป็นได้ อาทิ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)

นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

Snore Anatomy

Source: https://www.sleepscouts.com/how-to-stop-snoring/


เนื่องจากเสียงกรนเกิดจากการสั่นสะเทือน เราจึงสามารถวัดความถี่ของการกรนเป็นคลื่นได้ ซึ่งเมื่อวัดเสียงกรนออกมาจะได้ว่ามีความถี่ของสัญญาณอยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 500 Hz การกรนนั้นโดยทั่วไปจะเป็นสัญญาณลักษณะคล้ายกระสวยออกมาเป็นลูกๆ ประมาณ 0.5 - 2 วินาที ดังภาพประกอบ c) และ เมื่อพิจารณาความถี่ของสัญญาณที่วัดได้ออกมาตามพลังงานในคลื่นความถี่ต่างๆ จะได้ดังภาพ d)

นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

Snore Signal and Snore Power Spectrum

Source: Fiz, José Antonio & Abad, Jerard & Jané, Raimon & Riera, Melanie & Mananas, Miguel Angel & Caminal, Pere & Rodenstein, D & Morera-Prat, Josep. (1996). Acoustic analysis of snoring sound in patients with simple snoring and obstructive sleep apnea. The European respiratory journal : official journal of the European Society for Clinical Respiratory Physiology. 9. 2365-70.



สาเหตุทางกายวิภาคการนอนกรน ที่ทำให้เกิดเสียงกรน

  • เพดานอ่อนและลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ ทำให้เกิดการสั่นขณะอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจ
  • กล้ามเนื้อคอและลิ้นผ่อนคลายมากกว่าปกติ เมื่อหลับลึกกล้ามเนื้อจะผ่อนคลายมากกว่าปกติอาจทำให้โคนลิ้นปิดกั้นทางเดินหายใจบางส่วนให้เส้นเกิดเสียงกรนเมื่ออากาศไหลผ่านทางเดินหายใจ
  • กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณช่วงคอหนากว่าปกติทำให้ทางเดินหายใจถูกบีบให้แคบลง สาเหตุนี้จะเกิดเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือเป็นโรคอ้วน
  • รูจมูกตีบตัน ทำให้ต้องใช้แรงดันต่ำลงในการดูดอากาศเข้ามาซึ่งทำให้เกิดการสั่นกระพือและเกิดเสียงกรนได้

  • วิดีโอแสดงโครงสร้างเมื่อเกิดการกรน และการหยุดหายใจ



    ปัจจัยต่างๆ ที่ให้เกิดการนอนกรน

  • เพศ: เพศชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่า โดยเพศหญิงมีโอกาสที่จะนอนกรนได้น้อยกว่าเนื่องจากมีช่องทางเดินหายใจกว้างกว่าผู้ชาย ในบางกรณี การมีสรีระที่ผิดปกติ อาทิ ต่อมทอลซิลโต ลิ้นไก่ใหญ่กว่าปกติ โคนลิ้นใหญ่กว่าปกติ มีเนื้องอกในช่องคอ หรือ เป็นโรคเพดานโหว่ อาจทำให้เกิดการนอนกรนได้มากหรือน้อยกว่าปกติ
  • ทางเดินหายใจแคบ: บางคนมีเพดานอ่อนยาว หรือ ต่อมทอลซิล ใหญ่กว่าปกติ หรือ ต่อมอดีนอยด์ ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งมีโอกาสทำให้ทางเดินหายใจแคบและนอนกรน
  • น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน (BMI > 30) : เมื่อกล้ามเนื้อและไขมันที่เพิ่มขึ้นส่งทำให้ช่องคอแคบ และส่งผลให้ช่องทางเดินหายใจแคบลงทำให้มีโอกาสนอนกรนเพิ่มขึ้น
  • ปัจจัยด้านอายุ : เมื่ออายุเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนช่วงคอจะแคบลงทำให้มีโอกาสกรนมากขึ้น
  • ความเจ็บป่วยและโรคภัย : มีหลายโรคที่ให้เกิดอุปสรรคในการหายใจโดยใช้จมูก อาทิ เช่น โรคไข้หวัด โรคไซนัส โรคภูมิแพ้ อาจทำให้เนื้อเยื่อโพรงจมูกอักเสบ การที่ทางเดินหายใจแคบลงทำให้มีโอกาสกรนมากขึ้น
  • แอลกอฮอล์ ยาคลายกล้ามเนื้อ : ทั้งสองอย่างทำให้เกิดความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจช่วงบนหย่อนคล้อย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการนอนกรน
  • การสูบบุหรี่ : ทำให้เกิดความระคายเคืองเนื้อเยื่อทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง นำไปสู่การเกิดนอนกรนได้มากขึ้น
  • ท่าทางการนอน : โดยทั่วไปคนที่นอนหงายจะเกิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อช่วงคอ ทำให้เกิดการนอนกรนได้ง่ายกว่าท่าทางการนอนอื่นๆ
  • การอดนอนนาน: ทำให้กล้ามเนื้อช่วงคอของคุณผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้เกิดนอนกรนได้มากขึ้น ศึกษาเพิ่มเติมกดที่นี้ ภาวะการขาดการนอนหลับ Sleep Deprivation
  • พันธุกรรม: มีประวัติครอบครัวที่มีการกรน หรือ มีโรคหยุดหายใจขณะหลับมาก่อนทำให้มีโอกาสที่จะนอนกรนมากขึ้น


  • ประเภทของการนอนกรน แบบไหนอันตรายและไม่อันตราย?

    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    การนอนกรน แบบธรรมดา

  • การนอนกรนที่ทางเดินหายใจตีบแคบลง แต่ยังกรนสม่ำเสมอ กล่าวคือยังสามารถหายใจได้ตามปกติ แต่มีเสียงกรนที่รบกวนผู้ที่นอนร่วมกัน และบางครั้งอาจจะมีอาการปากแห้งคอแห้งร่วมด้วย ซึ่ง การนอนกรนธรรมดานี้ไม่มีอันตราย
  • การนอนกรนที่มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  • การนอนกรนที่ทางเดินหายใจตีบแคบลงจนปิดทางเดินหายใจ ทำให้ไม่มีออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงสมองและร่างกาย จะสังเกตได้จากเสียงกรนที่ไม่สม่ำเสมอดังๆ เบาๆ และบางครั้งก็ไม่มีเสียงอันเนื่องมาจากทางเดินหายใจถูกปิด ทำให้ไม่มีอากาศผ่าน และผู้นอนจะสะดุ้งเฮือกเพื่อหายใจสลับไปเป็นระยะ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Obstructive Sleep Apnea
  • การนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนี้มีอันตราย ผู้ที่มีภาวะนี้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตกตีบตัน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ โรคหัวใจ มากกว่าคนปกติหลายเท่า

  • คำถามเพื่อแยกประเภทของการนอนกรน ว่ามีภาวะหยุดหยุดหายใจร่วมด้วยหรือไม่

  • การนอนกรนเริ่มต้นเมื่อไร กรนตั้งแต่เริ่มนอนหลับเลยหรือไม่ กรนทุกครั้งที่นอนหลับใช่หรือไม่
  • การนอนกรนแต่ละครั้งนานแค่ไหน (วินาที)
  • อะไรบ้างที่ทำให้หยุดกรน
  • เสียงกรนดังแค่ไหน และเสียงกรนมาจากไหน
  • นอนท่าไหนถึงกรน : นอนหงาย หรือ นอนตะแคงซ้าย หรือ นอนตะแคงขวา หรือ นอนคว่ำ หรือเกิดการนอนกรนนี้เกิดขึ้นทุกท่านอน
  • การนอนกรนเกิดขึ้นสม่ำเสมอ มีการสำลัก หรือสะดุ้งเฮือกขึ้นมาด้วยหรือไม่
  • การสังเกตและวิเคราะห์การนอนกรนสามารถให้คำตอบได้หลายอย่างเกี่ยวกับสุขภาพของคุณ อาทิ หากเสียงกรนมาจากจมูกอาจจะพิจาณาได้ว่าเกิดจากการสั่นของเยื่อด้านหลังโพรงจมูก หากการนอนกรนเกิดขึ้นบางท่าทางการนอน อาจจะชี้ให้เห็นทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาที่มากขึ้นเช่นการฝึกนอนตะแคง แต่หากเกิดเสียงกรนในทุกท่าทางและส่วนที่สำคัญคือหากกรนเสียงดัง เสียงกรนไม่สม่ำเสมอ มีเสียงดังเบาสลับกัน และมีการสะดุ้งเฮือกเพื่อหายใจ หรือสำลักบ่อยๆ หากชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

    หากคุณต้องการวิเคราะห์ปัญหาการนอนกรนทางเลือกแรก คือ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างระบบทางเดินหายใจส่วน คอ จมูก โพรงจมูก ปาก เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ลิ้น และยังสังเกตอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเช่น ภูมิแพ้ ผนักโพรงจมูกคดผิดรูป หรือ ต่อมทอลซิลโต และอื่นๆ

    หรือสามารถที่จะเลือกการ ตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test) เพื่อตรวจหาสาเหตุปัญหาการนอนและภาวะการหยุดหายใจ ซึ่งควบคุมโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับหรือ Sleep Specialist ซึ่งจะตรวจดูโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับทั้งหมด อาทิ โรคนอนกรน โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ โรคนอนละเมอ โรคขากระตุกขณะหลับ เป็นต้น



    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    การตรวจวินิจฉัยนอนกรน ทำอย่างไร

    ผู้ที่นอนร่วมกับคุณ หรือคนในครอบครัว อาจเป็นผู้ที่บอกว่าได้ว่าคุณนอนกรนหรือไม่ ซึ่งหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาโรคการนอนกรน จะสอบถามทั้งคุณและผู้ที่นอนร่วมกับคุณถึงอาการนอนกรน

    หมอจะสอบถามเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา การรักษา รวมถึงตรวจร่างกายของคุณเพื่อศึกษาสิ่งที่อาจเป็นตัวอุดกั้นการหายใจของคุณอาทิเช่น การดูรูจมูก การดูลิ้น ต่อมทอลซิล หรือ ช่วงคอของคุณ รวมถึงให้คุณเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม

    1. การตรวจการนอนหลับ หรือ Polysomnography หรือ Sleep Test เป็นกระบวนการเพื่อศึกษาปัญหาจากการวัดค่าจากร่างกายชนิดต่างๆ ระหว่างการนอนหลับ แพทย์อาจให้ท่านตรวจการนอนหลับที่บ้าน หรือ เข้ามารับการตรวจที่ห้องตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาล โดยการตรวจนี้จะวัดค่าต่างๆ อาทิ คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ สัญญาณการกรน สัญญาณการหายใจ และอื่นๆ

    2. การถ่ายภาพทางการแพทย์ อาทิเช่น X-Ray , MRI หรือ CT Scan เพื่อศึกษาปัญหาระบบการหายใจ



    การรักษานอนกรน มีวิธีไหนบ้าง

    1. แก้ปัญหานอนกรนด้วยตนเอง

    นี้เป็นขั้นแรกที่คุณต้องทำหากคุณนอนกรนและต้องการรักษาการนอนกรน มีหลากหลายวิธีนะครับ โดยเราเขียนไว้ในบทความ แก้ปัญหานอนกรนด้วยตนเอง ให้คุณแต่หากทำตามแล้วยังไม่หายคุณต้องลองการรักษานอนกรนในขั้นต่อไป

    กดดูบทความ แก้ปัญหานอนกรนด้วยตนเอง ที่นี้

    2. การผ่าตัด

    การผ่าตัดมีหลายรูปแบบที่ใช้สำหรับการรักษาการนอนกรน ของทางเดินหายใจ เช่น ผ่าตัดที่ช่วงโพรงจมูก ผ่าตัดที่บริเวณโคนลิ้น ผ่าตัดเพดานอ่อน และอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะศึกษาปัญหาการนอนกรนของคุณและเสนอแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหานอนกรนของคุณ โดยแพทย์จะชี้แจงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการทำการผ่าตัด

    3. การใช้เครื่องมือทันตกรรม

    มีอุปกรณ์ทันตกรรมสำหรับช่วยในขยายทางเดินหายใจ โดยจะเป็นคล้ายๆ ที่ครอบฟันซึ่งจะช่วยคุณดึงขากรรไกรล่างขึ้นมาด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อทำให้ช่องทางเดินหายใจกว้างขึ้น

    4. การใช้เครื่อง CPAP หรือ เครื่องอัดอากาศประเภทอื่นๆ

    การใช้เครื่องอัดแรงดันบวกหรือเครื่อง CPAP เป็นทางเลือกที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน สำหรับการรักษาการนอนกรน โดยสามารถช่วยลดอัตราการหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ลดอัตราการหายใจแผ่ว (Hypopnea) โดยการเป่าลมเข้าไปทางรูจมูกเพื่อเปิดทางเดินหายใจ โดยการหายใจของเราจะวิ่งอยู่บนความดันลมที่สูงขึ้นเล็กน้อยและทางเดินหายใจก็จะเปิดไม่ถูกอุดกั้น การใช้เครื่อง CPAP นี้สามารถช่วยแก้ปัญหาการนอนกรนได้แต่การซื้อเครื่อง CPAP มาทดลองใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ร่วมกับการวินิจฉัยและการปรึกษาให้คำแนะนำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การนำมาใช้เองโดยไม่มีความเข้าใจ อาจเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ หรือ กระทั่งทำให้สถานการณ์แย่ลง รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

    5. แบบผสมผสาน

    สำหรับคนไข้ที่มีภาวะนอนกรนจนถึงเป็นภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นแบบรุนแรงอาจต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน เช่น การผ่าตัดร่วมกับ CPAP หรือ การใช้เครื่องมือทันตกรรมร่วมกับ CPAP เป็นต้น

    วัดการกรนได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง

    การกรนนั้นเกิดจากการที่อวัยวะส่วนที่บรรจบกันของลิ้น คอส่วนบน เพดานอ่อน และลิ้นไก่ เกิดการสั่นกระพือระหว่างการหายใจ วิธีในการวัดการกรนนั้นสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งหลักการคือการจัดการสั่นสะเทือนของอวัยวะส่วนนี้ หรือการวัดการสั่นสะเทือนของอากาศที่ทำให้เกิดเสียงกรน

  • วิธีที่หนึ่ง การวัดโดยใช้ Piezo Sensor เซ็นเซอร์ชนิดนี้จะวัดปรากฏการณ์ Piezoelectric Effect อันเปลี่ยนแปลงพลังงานจากการสั่นสะเทือนไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะส่งกลับไปยังขั้วสาย ซึ่งเราจะวัดค่าที่ได้และพล็อตเป็นกราฟเพื่อให้เห็นการกรน การติดเซ็นเซอร์นี้มักจะใช้กับการตรวจการกรนในการตรวจการนอนหลับ โดนจะติดเซ็นเซอร์ที่บริเวณคอดังภาพ เพื่อใช้ในการวัดการกรนของผู้เข้ารับการตรวจการนอน
  • นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร
  • วิธีที่สอง คือการวัดโดยไมโครโฟน โดยการเปรียบเทียบเสียงกรนกับเสียงของสภาพแวดล้อม ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้ แต่หากจะให้แม่นยำมากขึ้นจะเป็นการติดไมโครโฟนที่หน้าอกของผู้ถูกวัด ซึ่งในปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจการวัดการกรนที่เราสามารถใช้สมาร์ทโฟนในการวัดได้ โดยแอพพลิเคชั่นที่นิยมในการใช้วัดการกรน ยกตัวอย่างเช่น Snore Lab , Snore Control โดยมีเวอร์ชั่นสำหรับทั้ง iOS และ Andriod ซึ่งหลายโปรแกรมสามารถใช้ได้ฟรี ทำให้คุณสามารถบันทึก วิเคราะห์การกรนของคุณได้ด้วยตนเอง
  • นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    ตัวอย่างภาพสัญญาณการกรนจากการตรวจการนอน

    ภาพด้านล่างนี้คือตัวอย่างสัญญาณการตรวจการนอนหลับ ซึ่งมีเส้นสีส้มของกราฟ SNORE คือสัญญาณการกรนของผู้เข้ารับการตรวจ FLOW TH คือ สัญญาณความร้อนจากการหายใจทางจมูกและปาก และ P FLOW คือ สัญญาณแรงดันลมหายใจจากจมูก

    ภาพแรกจะเป็น Ecoph 30 วินาที จะเห็นว่าสัญญาณการกรนนั้นจะมาเป็นระยะๆ สลับกับไม่กรน แต่ละครั้งจะเกิดขึ้นสอดคล้องกับสัญญาณการหายใจ แต่ละครั้งการกรนจะเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาที

    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    ภาพที่สองนี้เราจะเห็นสัญญาณการกรนอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือเราจะเห็นสัญญาณกรนที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ที่วิ่งอยู่บนการสั่นสะเทือนของลำคอที่ลากยาว ซึ่งเราจะเห็นว่าการกรนมีความสัมพันธ์กับการหายใจ

    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    ภาพที่สามนี้เราจะเห็นสัญญาณการกรนที่เกิดขึ้นในช่วงสัญญาณ Epoch 30 วินาที x 4 ช่วง รวม 120 วินาที จะเห็นว่าผู้เข้ารับการตรวจมีการกรนต่อเนื่อง มีสัญญาณการกรนเป็นกระเปาะสลับกับการหยุดกรนเป็นระยะๆ

    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    การนอนกรนเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างไร

    ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจถูกอุดกั้นไม่มีอากาศไหลผ่านเป็นเวลามากกว่า 10 วินาทีขึ้นไป ซึ่งแบ่งได้เป็นสามแบบคือ แบบที่หนึ่ง Obstructive Apnea หรือการหยุดหายใจจากการอุดกั้น แต่มีความพยายามในการหายใจจากการกระเพื่อมของหน้าอกและท้อง แบบที่สอง Central Apnea หรือการหยุดหายใจและไม่มีความพยายามในการหายใจโดยหน้าอกและท้องไม่กระเพื่อมซึ่งจะพบได้เมื่อมีความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย และแบบที่สาม Mixed Apnea แบบผสมคือมีทั้งแบบที่หนึ่งและสองอยู่ในการหยุดหายใจหนึ่งครั้ง

    โดยผู้ใหญ่ที่กรนส่วนใหญ่มักมีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย ขณะที่การนอนกรนในเด็กอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวข้องกับต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์ โดยทางเราได้มีบทความเกี่ยวกับโรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea อย่างละเอียดที่ควรรู้ไว้ที่บทความในลิ้งด้านล่างนี้ครับ

    ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea) ภาวะนี้คืออะไร อันตรายแค่ไหน รักษาอย่างไร



    นอนกรนเกิดจากสาเหตุอะไร

    ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการนอนกรน

    1. นอนกรนกินยารักษาได้หรือไม่

    ตอบ: นอนกรนกินยารักษาไม่หายครับ ปัจจุบันไม่มียาสำหรับทานเพื่อรักษาการนอนกรน เนื่องจากการนอนกรนเป็นปัญหาทางกายภาพที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา แต่ในบางครั้งอาจมีการให้ยาเพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น เช่น ยาลดอาการภูมิแพ้ ซึ่งก็เป็นการแก้ไขตามอาการ ไม่ใช้การรักษาเพื่อให้หายจากการกรนจริงๆ โดยการรักษาการนอนกรนมีรายละเอียดดังนี้ครับ การรักษาการนอนกรน มีวิธีไหนบ้าง


    2. นอนไม่ใช้หมอน แก้นอนกรนหรือไม่

    ตอบ: นอนไม่ใช้หมอนแก้นอนกรนไม่ได้ครับ


    3. นอนตะแคงอย่างเดียว ทำให้หยุดนอนกรนได้หรือไม่

    ตอบ: นอนตะแคงสามารถช่วยลดความรุนแรงจากการนอนกรนได้ เนื่องจากการนอนตะแคงจะช่วยให้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นน้อยลง แต่ว่าไม่ใช่ว่าทุกคนนอนตะแคงและจะหายกรนนะครับ คุณสามารถลองดูเทคนิคต่างๆ สำหรับลดกรนได้ตามบทความนี้ครับ แก้ปัญหานอนกรนด้วยตนเอง


    4. สามีเป็นคนผอมแต่มีอาการนอนกรน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

    ตอบ: ไม่ใช่เฉพาะคนที่น้ำหนักมาก หรือ อ้วนเท่าที่นอนกรนได้ คนผอมก็สามารถนอนกรนได้ เนื่องจากการนอนกรนเป็นปัญหาจากสรีระช่วงบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งหมายความว่าคนอ้วนมีโอกาสเป็นมากกว่าแต่คนผอมก็เป็นได้เช่นกัน หากช่วงคอหรือทางเดินหายใจถูกทำให้แคบลง หากถามว่าอันตรายหรือไม่ ต้องดูชนิดของการกรนว่าการกรนเป็นแบบไหน หรือ หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น นอนแล้วตื่นมาปวดศีรษะ ง่วงตลอดวัน อ่อนเพลีย แนะนำให้เข้าพบแพทย์ เพื่อปรึกษาเรื่องการนอนกรนครับ


    5. นอนกรนรุนแรงแค่ไหนถึงควรพบแพทย์

    ตอบ: เมื่อมีอาการนอนกรนชนิดอันตราย หรือสงสัยว่าตนเองมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถสังเกตได้จากอาการต่างๆ ดังนี้


    6. นอนกรนหนักมาก มีโอกาสใหลตายหรือไม่

    ตอบ: การนอนกรนมีความเกี่ยวข้องกับโรคใหลตาย หรือ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ค่อนข้างมาก เนื่องจากการนอนกรน ทำให้หายใจได้ไม่สะดวกและในหลายครั้งมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วย ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติ พบว่าคนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกมากกว่าคนปกติหลายเท่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการนอนกรนมากๆ ควรตรวจเพื่อรักษาหยุดหายใจขณะหลับเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน


    7. การนอนกรนสามารถ รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

    ตอบ: การนอนกรนสามารถรักษาได้ และผู้ที่รักษาการนอนกรนไม่เพียงสามารถลดเสียงรบกวนของคนรอบข้าง ยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกมากมายอาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดัน เป็นต้น


    8. คำถามจากทางบ้าน : คุณปู่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และนอนกรนด้วย หากรักษานอนกรน หัวใจจะกลับมาเต้นปกติหรือไม่ อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะหายไปหรือไม่

    ตอบ: โรคหัวใจ และ การนอนกรนเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันการรักษานั้นทำแยกจากกัน แต่การรักษานอนกรนนั้นไม่ได้ช่วยรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่กระนั้นก็ควรรักษาอาการนอนกรนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าการนอนกรนนั้นอาจนำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคหัวใจแย่ลง

    สรุปการนอนกรนเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรสังเกตชนิดการนอนกรนของตัวเองและคนที่คุณรัก เพื่อป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ จะตามมา

    Home Sleep Test

    ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา

    Reference

    ประเมินความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ