วิธีการใช้งานเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
How to use CPAP VentMed DF-20A by ณพสิทธิ์ 21/10/24
สารบัญ
- เครื่อง CPAP หรือ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก VentMed DF-20A
- พารามิเตอร์ต่างๆ ของเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
- วิธีการใช้งานเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า CPAP VentMed DF-20A
- วิธีการ Download ข้อมูลจากเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
- วิธีการดูแลเครื่องและอุปกรณ์ (Cleaning & Maintenance)
- เครื่องทำความชื้น หรือ Humidifier ของ CPAP คืออะไร จำเป็นหรือไม่
- ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน
เครื่อง CPAP หรือ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก VentMed DF-20A
บทความนี้ จะให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเครื่อง CPAP หรือ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก ยี่ห้อ VentMed รุ่น DF-20A ซึ่งเป็นเครื่อง CPAP ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เครื่อง VentMed DF-20A นี้ถือว่าเป็นเครื่อง CPAP ที่ฟังก์ชั่นพื้นฐานครบถ้วน เงียบ และมีระบบทำความชื้น ถือว่าเป็นเครื่องที่ครบเครื่องและคุณภาพดีพอสมควร
สำหรับ Continuous Positive Airway Pressure หรือ CPAP หรือ เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก คือ เครื่องอัดแรงดันอากาศผ่านทางจมูกหรือปากขณะหายใจเข้า เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้นช่วยให้ผู้ใช้สามารถหายใจและรับอากาศได้อย่างเพียงพอโดยการหายใจบนแรงดันอากาศของเครื่อง CPAP ช่วยให้ร่างกายสามารถได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอระหว่างการนอนหลับ
เครื่อง CPAP นั้นใช้สำหรับรักษาผู้ที่นอนกรน หรือผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ระดับปานกลางหรือรุนแรง การใช้เครื่อง CPAP เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยไม่ต้องผ่าตัด
พารามิเตอร์ต่างๆ ของเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
1. Ramp Time
ระยะเวลาหน่วงจากเวลาเริ่มเปิดเครื่องจนถึงช่วงเวลาที่หลับ ในช่วงนี้เครื่อง CPAP จะค่อยๆ ปรับแรงดันลมจาก Start Pressure (หรือ Initial Pressure) Pressure ไปจนถึงช่วง Min Pressure ที่ใช้ระหว่างหลับ
2. Initial Pressure หรือ Start Pressure
ค่าแรงดันเริ่มต้นเมื่อเปิดเครื่อง CPAP มีหน่วยเป็น cmH2O
3. Min - Max Pressure
ช่วงแรงดันลมที่ใช้ในการรักษาผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับสำหรับเครื่อง CPAP ชนิด Auto เป็นค่าต่ำสุดและค่าสูงสุดโดยเป็นแรงดันลมที่ตั้งค่าไว้สำหรับการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เครื่อง CPAP โดยทั่วไปมักจะมีค่าแรงดันลมอยู่ในช่วง 4 - 20 cmH2O หรือ เซนติเมตรน้ำ ซึ่งค่าแรงดันนี้ควรจะเป็นการตั้งค่าที่กำหนดโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
4. EPR Level (Expiratory Pressure Relief)
คือการตั้งค่าการลดค่าแรงดันลมระหว่างการหายใจออก ซึ่งมีส่วนช่วยให้การใช้เครื่อง CPAP รู้สึกว่าแรงดันขณะหายใจออกลดลง โดยจะมีค่าที่สามารถปรับได้ OFF, ระดับ 1, ระดับ 2, และระดับ 3 ตัวอย่างเช่น หากเราปรับ EPR = 2 ขณะที่แรงดันการหายใจของเราคือ 10 cmH2O เมื่อมีการหายใจออก แรงดันจะได้เท่ากับ 8 cmH2O (อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับอัลกอริทึมของแต่ละเครื่อง) นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้มี EPR ตลอดคืน หรือว่าเฉพาะช่วงที่กำลังเพิ่มแรงดันก่อนเราหลับ (Ramp Only)
5. Pressure Step
ความเร็วในการขึ้นหรือลดแรงดัน ยิ่งตั้งค่าสูง เช่น 1 cmH2O ก็ยิ่งเพิ่มแรงดันไปยังแรงดันเป้าหมายได้เร็ว หรือ หากตั้งค่าไว้น้อยเช่น 0.2 cmH2O ก็อาจจะไปถึงแรงดันที่กำหนดไว้ได้ช้าแต่ว่านุ่มนวลกว่า ผู้เขียนแนะนำให้ตั้งค่าไว้ Pressure Step 0.5 cmH2O สำหรับผู้ที่ใช้แรงดันในการรักษาไม่สูง อาทิ น้อยกว่า 8 cmH2O ขณะที่หากใช้แรงดันในการรักษาสูง เช่น 17 cmH2O แนะนำให้ใช้ Pressure Step = 1 cmH2O
ฟังก์ชั่นพิเศษ ของ VentMed DF-20A
การตั้งค่าพิเศษ กรณีต้องการปลดล็อก Clinical Setting ให้กดปุ่ม Dial ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที เพื่อให้สามารถแก้ไขการตั้งค่าได้ (รูปกุญแจล็อกจะเปลี่ยนเป็นรูปกุญแจเปิด)
1. Work Mode
เครื่อง VentMed DF-20A มีสองโหมดการทำงาน คือ AUTO และ CPAP
2. Humidity Level
ในหลายประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นมักจะมีอากาศที่แห้งซึ่งทำให้การหายใจโดยไม่มีการปรับความชื้นให้เหมาะสมลำบากและอาจทำให้เกิดปัญหาระบบการหายใจตามมาได้ ดังนั้นการปรับอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญ ความชื้นที่ปรับได้ของเครื่อง VentMed DF-20A มีระดับตั้งแต่ Level 0 - 5 การตั้งค่าโดยทั่วไปจะแนะนำอยู่ที่ Level 2 หากผู้ใช้งานรู้สึกว่าอากาศแห้งเกินไปหรือชื้นเกินไป สามารถปรับระดับความชื้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงให้เหมาะสม ข้อสังเกตคือ หากพบว่าเมื่อเปิดระบบความชื้นแล้วในท่อมีน้ำขังเมื่อตื่นมาตอนเช้า แสดงว่าอาจจะใช้ความชื้นมากเกินไป
3. Tube Temp. Setting
ต้องใช้คู่กับท่อที่มีระบบปรับอุณหภูมิ - โดยกรณีที่ผู้ใช้งานใช้งานเครื่อง CPAP ในประเทศไทย ฟังก์ชั่นนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานเนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยเหมาะสมกับการหายใจตามปกติอยู่แล้ว
4. Preheat
เปิดปิดระบบทำอุณหภูมิล่วงหน้า - โดยกรณีที่ผู้ใช้งานใช้งานเครื่อง CPAP ในประเทศไทย ฟังก์ชั่นนี้อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานเนื่องจากอุณหภูมิในประเทศไทยเหมาะสมกับการหายใจตามปกติอยู่แล้ว
5. Auto ON
เปิดปิดโหมดที่เมื่อหายใจเข้าเครื่อง CPAP จะเริ่มทำงานอัตโนมัติ หากรู้สึกไม่ชินและต้องการเปิดปิดการทำงานของเครื่องเองสามารถปิดโหมดนี้ได้ เป็นโหมดอัตโนมัติที่คล้ายคลึงกับระบบ SmartStart ของเครื่อง ResMed AirSense10 AutoSet
6. Auto OFF
เปิดปิดโหมดที่เครื่อง CPAP จะปิดการทำงานเมื่อพบว่าผู้ใช้งานถอดหน้ากากออก หรือมีลมรั่วเยอะกว่าเกณฑ์
7. Alarm
เป็นฟังก์ชั่นในการตั้งค่าการแจ้งเตือนด้วยเสียง หากไม่ประสงค์ให้เครื่องแจ้งเตือนสามารถตั้งค่าเป็น OFF ได้
วิธีการใช้งานเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า CPAP VentMed DF-20A
Rear View of CPAP VentMed DF-20A
1. เสียบปลั๊กไฟจาก AC/DC Adapter เข้ากับไฟบ้านและอีกขั้นหนึ่งเข้าที่ด้านหลังเครื่อง CPAP VentMed DF-20A ตรงจุด Power Input
2. กรณีที่ใช้ระบบทำความชื้น (หากไม่ใช้ให้ผ่านข้อนี้ไป) ดึงกระปุกน้ำออกมาและเปิดฝา Humidifier Water Tub หรือ กระปุกใส่น้ำที่มากับเครื่อง CPAP และเติมน้ำเข้าไปให้ถึงขีดที่กำหนด ไม่ให้มากไปหรือน้อยไป เมื่อปิดกระปุกแล้วให้เสียบกระปุกกลับไปที่เครื่อง CPAP ระวังอย่าให้น้ำหกเข้าไปในเครื่อง CPAP ข้อควรระวังคือ เมื่อใช้เสร็จทุกครั้งให้นำน้ำออกมาเททิ้งและเปลี่ยนน้ำสะอาดใหม่ทุกครั้งที่มีการใช้งาน พยายามอย่างเติมน้ำทิ้งไว้ เพราะอาจจะเกิดเชื้อราหรือสิ่งสกปรกตกลงไปได้
3. ต่อท่อแรงดันอากาศ (ท่อลม) หรือ Tubing ด้านหนึ่งเข้ากับเครื่อง CPAP ตรงขั้วต่อ Air Outlet หรือส่วนท่อที่มีลมเป่าออกมา
4. ต่อท่อแรงดันอากาศอีกด้านหนึ่งเข้ากับหน้ากาก
5. ใส่หน้ากากและสายรัดเข้ากับจมูกให้เรียบร้อยโดยไม่ควรให้มีอากาศรั่วแต่ไม่ให้แน่นจนเกินไป หน้ากากมีจุดที่เป็นรูระบายลม ห้ามปิดเด็ดขาด เป็นส่วนระบายอากาศเวลาหายใจออกสำหรับขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจุดนี้หากใช้แรงดันลมสูงอาจจะมีเสียง 'พี้' ซึ่งเป็นปกติ
6. Start/Stop button หนึ่งครั้งค้างไว้สักครู่เครื่องจะเปิดและทำงาน ไฟจะดับเองเมื่อรอสักครู่ โดยผู้ใช้สามารถตั้งค่าเพื่อเปิดโหมด Auto ON ได้ โดยโหมดนี้จะทำให้เครื่องเริ่มทำงานอัตโนมัติเมื่อตรวจจับได้ว่ามีการสูดลมหายใจ
7. เมื่อตื่นนอน หรือต้องการเข้าห้องน้ำ ให้กดปุ่ม Start/Stop button ค้างไว้สักครู่เพื่อปิดการทำงาน หรือ หากเปิดโหมด Auto OFF สามารถที่จะถอดหน้ากาก และไปเข้าห้องน้ำได้เลย
8. เมื่อตื่นนอนแล้วให้ปิดการทำงานของเครื่อง โดยกดปุ่ม Start/Stop button ค้างไว้สักครู่จนไม่มีแรงดันลมเป่าออกมา จากนั้นดึงปลั๊กออกจากไฟบ้าน
วิธีการ Download ข้อมูลจากเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
การ Download ข้อมูลการใช้งานจากเครื่อง CPAP VentMed รุ่น DF-20A สามารถทำได้โดยใช้ Micro SDCard ซึ่งจะถูกติดตั้งไว้ใน Micro SDCard Socket โดยการเปิดฝาปิดซิลิโคนขึ้นมาก่อน และกดไปที่ Micro SDCard โดยใช้เล็บหรือวัตถุขนาดเล็กเพื่อให้ Micro SDCard เด้งขึ้นมาให้สามารถหยิบได้
1.การจัดการข้อมูลการใช้งานที่บันทึกอยู่ใน Micro SDCard
ระหว่างการใช้งานข้อมูลระหว่างและคืนที่มีการใช้งานจะถูกบันทึกไว้ใน Micro SDCard โดยจะสร้างออกมาเป็นนามสกุล .ds3 แยกตามแต่ละวัน
1.1 เชื่อมต่อ Micro SDCard ผ่าน SDCard Reader (หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั่วไป) และ เข้ากับคอมพิวเตอร์แล้วให้คัดลอกไฟล์ที่มีนามสกุล .ds3 ทั้งหมดลงมายัง Folder ที่เตรียมไว้แล้วในคอมพิวเตอร์ของท่าน
1.2 อัพโหลดไฟล์ทั้งหมดนี้ขึ้น Online Drive หรือ Compress เป็น Zip File หรือ วิธีการอื่นๆ เพื่อส่งให้กับผู้แทนจำหน่ายเครื่อง CPAP VentMed ของท่าน เพื่อดึงแปลงข้อมูลเป็นรายงานการใช้งาน CPAP ในช่วงที่ผ่านมาโดยการส่ง Email หรือ แนบลิ้งข้อมูล หรือ ช่องทางอื่นๆ
2.การใช้งานโปรแกรมในการดึงข้อมูลการใช้งานเครื่อง CPAP ด้วยโปรแกรม DreamSleep
โปรแกรมชื่อว่า DreamSleep ซึ่งจะถูกจัดเตรียมอยู่ใน Micro SDCard ติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ในระบบปฏิบัติการ Window ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างรายงานการใช้งานด้วยตนเอง โดยใช้โปรแกรมที่จัดเตรียมมาให้ใน Micro SDCard โดยหากไม่ได้ใส่ Micro SDCard ไว้ในเครื่อง CPAP ระหว่างคืนที่ใช้งาน จะไม่มีข้อมูลการใช้ถูกบันทึกไว้ ดังนั้นควรจะใส่ Miro SDCard ไว้ภายในเครื่องตลอดเวลา ดังนี้
2.1 เปิดโปรแกรม DreamSleep
2.2 เลือก Menu File และกดเลือกไปที่ Folder ที่เตรียมข้อมูลที่บันทึกการใช้งานจากเครื่อง CPAP ไว้
2.3 กด Report เพื่อสร้างรายงานการใช้งานเครื่อง CPAP VentMed
2.4 โปรแกรมจะสร้างรายงานเป็นไฟล์นามสกุล .docx หรือไฟล์ Micorsoft Word ออกมาสำหรับการใช้ต่อไป
2.5 กรณีต้องการดูข้อมูลการใช้งานแบบรายวันแบบละเอียด สามารถกดเลือกที่วันนั้นๆ และ Double Click
วิธีการดูแลเครื่องและอุปกรณ์ ( Cleaning & Maintenance )
การทำความสะอาดเครื่อง CPAP
สำหรับตัวเครื่อง CPAP ห้ามทำความสะอาดเครื่องด้วยน้ำหรือของเหลวอื่นๆโดยเด็ดขาดสามารถใช้ผ้านุ่ม ชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดทำความสะอาดภายนอกโดยระมัดระวังไม่ให้มีของเหลวเข้าไปในตัวเครื่องและควรถอดปลั๊กออกทุกครั้งเมื่อทำความสะอาด
ท่อแรงดันอากาศ (CPAP Tubing)
อายุการใช้งานของท่อแรงดันอากาศ: ประมาณหนึ่งปี ความถี่ในการทำความสะอาด: 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง
วิธีทำความสะอาดท่อแรงดันอากาศ
1. ถอดท่อออกจากตัวเครื่องและหน้ากาก
2. ล้างทำความสะอาดท่อแรงดันอากาศด้วยน้ำยาล้างจานเจือจาง หรือ น้ำยาล้างขวดนมเด็ก และน้ำสะอาดจนไม่มีคราบตกค้างทั้งภายนอกและภายในของท่อแรงดันอากาศ
3. เขย่าท่อแรงดันอากาศเพื่อกำจัดละอองน้ำที่ตกค้างภายในท่อจากนั้นนำท่อแรงดันอากาศไปแขวนตากให้แห้งสนิท(ห้ามตากแดด)
แผ่นกรอง (Filters)
1. บริเวณช่องดูดอากาศเข้าจะมีฝาเปิดสำหรับเปลี่ยน Filter ในการกรองอากาศ ให้หมั่นตรวจเช็คทุก 1 เดือนและเปลี่ยนใหม่ทุก 1-2 เดือน
หน้ากาก (Mask Headgear)
1. ดึงหน้ากากออกจากช่วยหายใจและแกะสายรัดศรีษะ(Headgear)ออกจากหน้ากาก
2. ให้ล้างทำความสะอาดหน้ากากช่วยหายใจด้วยน้ำยาล้างจานเจือจาง หรือ น้ำยาล้างขวดนมเด็ก และน้ำสะอาด จนไม่มีคราบตกค้างแล้วตากในที่ร่ม(ห้ามตากแดด) ความถี่ในการทำความสะอาด: 1 สัปดาห์ต่อครั้ง
3. หรือทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหน้ากากโดยเฉพาะโดยฉีดพ่นหน้ากากให้ทั่วและเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้านุ่ม โดยไม่ต้องล้างน้ำออก
อุปกรณ์ทำความชื้น (อุปกรณ์เสริม)
1. ปิดไฟของเครื่องแล้วรอให้แผ่นความร้อนหายร้อน
2. ถอดท่อ (Tubing) ออกจากเครื่อง
3. นำ Humidifier Water Tub ออกจากเครื่อง CPAP
4. เทน้ำทิ้งให้หมด
5. แกะชิ้นส่วนของที่ใส่น้ำ (Humidifier Water Tub) ออกเป็นชิ้นๆแล้วนำมาล้างด้วยน้ำยาล้างจานเจือจาง หรือ น้ำยาล้างขวดนมเด็ก และน้ำสะอาดจนไม่มีคราบตกค้าง แล้วตากในที่ร่ม (ห้ามตากแดด)
เครื่องทำความชื้น หรือ Humidifier ของ CPAP คืออะไร จำเป็นหรือไม่
เครื่อง CPAP ในปัจจุบัน (2023) หลายๆ ยี่ห้อจะมีการออกแบบให้มีส่วนทำความชื้นที่มีลักษณะคล้ายกระปุกน้ำติดตั้งมาด้วยพร้อมกับตัวเครื่อง ซึ่งเครื่อง Resmed AirSense 10 และ AirSense 10 for Her มีมาให้พร้อมกัน แบบ Build In โดยผู้ใช้งานไม่ต้องซื้อแยกต่างหาก ซึ่งมักจะทำให้เกิดคำถามมากมายสำหรับผู้ใช้งาน CPAP เป็นครั้งแรกว่าทีไว้เพื่ออะไรและมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
เครื่องทำความชื้นสำหรับเครื่อง CPAP VentMed DF-20A เรียกว่า Water Chamber Tub หรือ Humidifier Water Tub ทำหน้าที่สร้างความชื้นและปรับอุณหภูมิให้อากาศที่วิ่งผ่านจากตัวเครื่อง CPAP ผ่านเข้ามายัง กระปุกน้ำนี้ และส่งออกไปยังท่อลม หรือ Air Tubing เพื่อให้ผู้ใช้เครื่องได้รับอากาศที่มีความชื้นเพิ่มมากขึ้น
เครื่องทำความชื้นรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่
เครื่องทำความชื้นไม่มีผลต่อการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ สาเหตุ สำคัญที่ต้องมีเครื่องทำความชื้นเข้ามาร่วมกับการใช้งานเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกนั้นเนื่องมาจาก แรงดันลมที่เป่าออกจากเครื่องอัดอากาศมีแรงดันลมที่สูงกว่าการหายใจโดยปกติของคนเรา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและมีโครงสร้างส่วนทางเดินหายใจ ลำคอ มีน้ำหนักมาก จะต้องการแรงดันลมที่สูงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ เมื่อมีแรงดันลมที่สูงกว่าปกติไหลผ่านจมูกหรือส่วนทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้งได้ หรือในผู้ใช้บางคนอาจจะรู้สึกโพรงจมูกแห้งและแสบโพรงจมูกเมื่อตื่นมาตอนเช้า
แรงดันลมมากแค่ไหน ควรพิจารณาใช้เครื่องทำความชื้น
เมื่อแรงดันลมเฉลี่ยในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับของผู้ใช้งานสูงกว่า 10 cmH2O และรู้สึกว่ามีอาการปากแห้งคอแห้ง อาจจะพิจารณาที่จะใช้เครื่องทำความชื้นร่วมด้วย
เครื่องทำความชื้นจำเป็นหรือไม่ สำหรับประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น หรือภูมิอากาศที่มีความชื้นสูง
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรมีอากาศร้อนและความชื้นในอากาศมาก ยกตัวอย่างเช่น
- กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีอัตราความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเฉลี่ย 73% ปี 2023
- Melbourne, Australia มีอัตราความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเฉลี่ย 51% ปี 2023
- New York City, USA มีอัตราความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเฉลี่ย 63% ปี 2023
ความชื้นและอุณหภูมิในอากาศมีความสัมพันธ์กันโดย
- อุณหภูมิในอากาศต่ำลง = อากาศหนาว | ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศก็จะลดลง = อากาศแห้ง
- อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้น = อากาศอุ่น | ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะสูงขึ้น = อากาศชื้น
ดังนั้น Heat Humidifier จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งการใช้งานในพื้นที่ ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ เพราะหากมีการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกที่มีแรงดันลมจากเครื่อง CPAP ที่สูงกว่าอากาศการหายใจปกติ ประกอบกับอากาศที่เย็นและแห้ง อาจจะให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกได้ นอกจากนี้จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่หายใจลำบากและมีอาการปากแห้งคอแห้ง
ดังนั้นในประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับและใช้เครื่อง CPAP สำหรับทำการรักษาการเลือกใช้เครื่องทำความชื้นหรือไม่ ให้ดูที่อาการปากแห้งคอแห้งหรือไม่ และอาการนั้นเกิดจากการอ้าปากแผ่วปากขณะหลับหรือไม่ หากไม่มี ก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องทำความชื้นเพราะว่าประเทศไทยอากาศค่อนข้างชื้นมากอยู่แล้วครับ
ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่อง CPAP VentMed DF-20A
1. เครื่อง CPAP VentMed DF-20A นั้นสามารถรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้หรือไม่
ตอบ: เครื่อง CPAP VentMed DF-20A นั้นสามารถใช้ในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับได้
2. เครื่อง CPAP VentMed DF-20A แตกต่างจากเครื่อง CPAP ยี่ห้ออื่นๆ อย่างไร อาทิ เครื่อง ResMed AirStart 10 ซึ่งราคามีความแตกต่างกัน
ตอบ: เครื่อง CPAP ทั้งสองรุ่นต่างสามารถช่วยในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ดี มีสิ่งที่เหมือนกันในแง่ฟังก์ชั่น
ความเหมือน
- รองรับการใช้แรงดันอากาศในการรักษาที่ 4 - 20 cmH2O / ตั้งค่า Ramp Time ได้ / ตั้งค่า Initial Pressure ได้
- จัดเก็บข้อมูลการใช้งานแบบ Offline เท่านั้น ด้วย SDCard ใน ResMed AirStart และใน Micro SDCard ใน VentMed DF-20A
- มีระบบ Humidifier หรือ การทำความชื้น แต่สำหรับเครื่อง VentMed จะมีให้ตั้งค่าได้ระดับ 0-5 , ขณะที่เครื่อง ResMed จะมีให้ตั้งค่าได้ระดับ 0-8
- ขนาดใกล้เคียงกัน ใช้งานเครื่องผ่านการต่อ ACDC Power Supply Adapter เหมือนกัน
ความแตกต่าง
- เครื่อง ResMed AirStart เงียบมากกว่า เครื่อง VentMed DF-20A (เงียบมากขนาดที่หลายคนที่นอนด้วยคิดว่าเครื่องไม่ได้ทำงานอยู่) แต่กระนั้นเครื่อง VentMed DF-20A ก็ถือว่ามีความเงียบพอสมควรเทียบกับเครื่องจากประเทศจีนรุ่นอื่นๆ
- เครื่อง VentMed DF-20A มีระบบ Auto ON/OFF ซึ่งใกล้เคียงกับฟังก์ชั่น SmartStart ซึ่งมีเฉพาะ ResMed AirSense10 AutoSet/AutoSet For Her เท่านั้น
- เครื่อง VentMed DF-20A ผู้ใช้งานสามารถที่จะดึงข้อมูลการใช้งานได้เองผ่านโปรแกรมที่จัดเตรียมมาให้ ขณะที่เครื่อง ResMed AirStart จะต้องออกรายงานการใช้งานโดยเจ้าหน้าที่จากผู้จัดจำหน่ายเท่านั้น
- เครื่อง VentMed DF-20A มีราคาถูกกว่า
ข้อควรพิจารณา
เครื่องทั้งสองสามารถรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้เหมือนกัน แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาในแง่ประสิทธิภาพการรักษาเพื่อเปรียบเทียบกันอย่างละเอียด แต่จากการสอบถามผู้ใช้งานทั้งสองยี่ห้อ ล้วนพึงพอใจในการใช้งานและรักษาด้วยเครื่องทั้งสองชนิด
แม้ว่าในแง่ฟังก์ชั่นการใช้งานเครื่องทั้งสองจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่กระนั้นในปัจจุบัน (ปีทีเขียน : 2024) ในแง่คุณภาพเครื่อง ResMed AirStart จัดได้ว่ามีคุณภาพดีกว่าเครื่อง VentMed DF-20A พอสมควร ในแง่ของประสบการณ์ของผู้ใช้ (๊User Experience) คุณภาพของรายงานการติดตามผลการใช้งาน (CPAP Report) คุณภาพหน้ากากและท่อที่ใช้ร่วมด้วย และคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการผลิตตัวเครื่อง อย่างไรก็ตามเครื่อง VentMed นั้นสามารถจัดหาได้ด้วยงบประมาณที่คุ้มค่ามากกว่า
3. เครื่อง CPAP VentMed DF-20A นั้นสามารถใช้ร่วมกันหน้ากากและท่อที่ซื้อจากยี่ห้ออื่นๆ ได้หรือไม่
ตอบ: ท่อและหน้ากากของเครื่อง CPAP Ventmed DF-20A สามารถใช้ร่วมกันท่อและหน้ากากอื่นๆ ในท้องตลาดได้ และโดยทั่วไป เครื่อง CPAP ยี่ห้อหรือรุ่นอื่นๆ ก็สามารถใช้ท่อและหน้ากากร่วมกันได้เช่นกัน ยกเว้น ท่อไฟฟ้า กระปุกน้ำ ที่โดยทั่วไปต้องเลือกซื้อแบบเฉพาะของยี่ห้อนั้นๆ หรือเครื่อง CPAP บางรุ่นที่ระบุว่าต้องใช้หน้ากากและข้อต่อเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น ResMed AirMini
ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา
Reference