contact-button

ติดต่อเรา

ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) คืออะไร

What is Sleep Test? by ณพสิทธิ์ 22/4/22


นอนกรนเกิดจากอะไร

สารบัญ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน



การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) คืออะไร


การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test หรือ Sleep Study หรือ Polysomnograpy คือการตรวจเพื่อวิเคราะห์การทำงานของร่างกายและสมอง ดูความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะหลับ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับได้ร่วมกับการดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทางและนักเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนอน

ปัจจุบันถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐานสากล (gold standard) สำหรับการวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA) การกระตุกของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่ผิดปกติ และพฤติกรรมที่ผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เป็นต้น

sleep test sleep apnea ตรวจการนอนหลับคืออะไร

ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ไปเพื่ออะไร


ชื่อเต็มของ การตรวจการนอนหลับคือ Polysomnography นั้นประกอบด้วยคำว่า Poly แปลว่าหลาย และ Somnography ซึ่งแปลว่าการนอนหลับ พอรวมกันจะได้ความหมายว่าตรวจการนอนหลับจากข้อมูลหลายๆ อย่างเข้ามารวมกัน

มีการตรวจการนอนหลับหลายชนิด ทั้งแบบที่ตรวจที่โรงพยาบาล หรือ ศูนย์โรคการนอนหลับ หรือ รูปแบบการตรวจที่บ้าน ซึ่งสำหรับการตรวจที่บ้านเองก็ยังแยกย่อยออกหลายแบบ โดยการตรวจแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันตามชนิดของอุปกรณ์ และเซ็นเซอร์ที่ใช้ โดยทั่วไปการตรวจการนอนที่บ้านแบบย่อจะวัดสัญญาณการหายใจ ระดับออกซิเจน อัตราการเต้นหัวใจ เป็นพื้นฐาน ขณะที่หากตรวจแบบเต็มรูปแบบนั้นก็จะมีทั้งการตรวจสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองกล้ามเนื้อ สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองหัวใจ สัญญาณท่าทางการนอน และค่าพารามิเตอร์อื่นๆ อีกรวมประมาณ 10 ชนิด

โดยการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) นั้นจะเฝ้าดู Sleep Stages และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนของเราตลอดทั้งคืน และพิจารณาเพื่อหาสาเหตุของปัญหาการนอนของเรา ว่ามีรูปแบบผิดปกติหรือไม่ หากมีแตกต่างอย่างไร มีสิ่งรบกวนอะไรบ้าง ทั้งจากภายในและภายนอกที่ขัดขวางการนอนหลับของคุณ อาทิ เหตุการณ์การแขนขากระตุกทำให้คุณนอนหลับไม่สนิท หรือการหยุดหายใจขณะหลับทำให้คุณง่วงตลอดวันและมีความดันโลหิตสูง การนอนละเมอมากผิดปกติ หรืออื่นๆ

โดยการนอนหลับโดยปกติ จะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ NREM Sleep หรือ Non-Rapid Eye Movement Sleep ซึ่งเป็นช่วงการนอนหลับที่แบ่งย่อยออกเป็นสามชนิดคือ หลับตื้น N1, หลับกลาง N2, หลับลึก N3 ซึ่งจะมีสัดส่วนที่เหมาะสมในคนปกติ ส่วนแบบที่สองคือ REM หรือ Rapid Eye Movement Sleep ซึ่งเป็นช่วงการนอนหลับที่สำคัญและคนเราจะหลับฝันในช่วงนี้เอง

ในคนปกติ เราจะหลับสลับกันไปมาเป็นวัฏจักร NREM - REM - NREM - REM ... ไปเรื่อยๆ จนตื่นนอนซึ่งหาก มีปัญหาความผิดปกติจากจากการนอนหลับก็จะทำลายวัฎจักรนี้ไป หรือทำให้เสียสมดุล หรือ รบกวนจนทำให้การนอนของเราไม่มีคุณภาพ หรือก่อให้เกิดโรคหรืออาการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย


Sleep stage ระดับการนอนหลับ

ตัวอย่าง Sleep Stage ของผู้ที่มีวงจรการนอนหลับค่อนข้างดี และ ผู้ที่มีวงจรการนอนหลับไม่ดี ในภาพที่ 1 จะเห็นว่าการนอนหลับของคนนี้ เมื่อแรกหลับก็สามารถเข้าสู่สภาวะการนอนแบบหลับลึก N3 ได้ในเวลาไม่นานจากนั้นก็เข้าสู่ REM Sleep และนก็กลับมาที่ NREM ก่อนจะวนเป็นวัฎจักรจนถึงเช้า เช่นนี้เรียกว่าวงจรการนอนหลับดี กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนผู้นี้จะไม่เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับนะครับ แต่เพียงส่วนวงจรการนอนหลับ Sleep Stage ของคนนี้ค่อนข้างดี

ในตัวอย่าง Sleep Stage ของคนที่สองนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อแรกหลับก็สามารถเข้าสู่การหลับลึก N3 ได้เช่นกัน แต่ว่าหลังจากนั้นก็หลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืนและสังเกตได้ว่ามีช่วงการนอนหลับแบบ REM Sleep เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เช่นนี้เรียกว่าวงจรการนอนหลับไม่ดี หากเกิดเป็นครั้งคราวย่อมไม่เป็นไรแต่หากเกิดขึ้นถาวรเรื้อรังแล้วก็ต้องหาวิธีการแก้ไขหรือรักษาอย่างจริงจังครับ

แต่การที่จะพัฒนาคุณภาพการนอนนั้นไม่เพียงต้องดูเรื่อง Sleep Cycle ยังต้องดูเรื่องเหตุการณ์และสิ่งรบกวนอื่นๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับร่างกายขณะหลับไปพร้อมกันด้วย เช่น การหยุดหายใจขณะหลับ อาการสะดุ้งตื่นบ่อยระหว่างคืน การแขนขากระตุก เรื่องการฝันร้าย และอื่นๆ อีกมากมาย

กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจ Sleep Test

ผู้ที่มีอาการผิดปกติจากการหลับหรือผู้ที่มีปัญหาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test


***กลุ่มที่มีอาการผิดปกติจากการนอนหลับ ที่ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ ได้แก่

  • ผู้ที่มีปัญหานอนกรนดังผิดปรกติ มีเสียงกรนหยุดเป็นพักๆ พลิกตัวบ่อยๆ
  • ผู้ที่มีอาการหายใจลำบาก และสงสัยว่าจะมีการหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ที่มีอาการง่วงนอนกลางวันมากผิดปรกติ ทั้ง ๆ ที่ได้นอนอย่างเพียงพอแล้ว
  • ผู้ที่มีอาการตื่นเช้าไม่สดชื่น มีอาการปวดหัวหลังตื่นนอน และรู้สึกอ่อนเพลียหลังตื่นนอนบ่อยๆ
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมการนอนผิดปรกติอื่น ๆ เช่น นอนแขนขากระตุก นอนกัดฟัน ฉี่รดที่นอน นอนละเมอ นอนฝันร้าย สะดุ้งตื่นเป็นประจำ เป็นต้น
  • ผู้ที่นอนหลับยาก หรือรู้สึกนอนหลับได้ไม่เต็มที่บ่อยๆ มากกว่า 3 สัปดาห์
  • ง่วงนอนทั้งวัน นอนเยอะยังไม่สดชื่น

    ***กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจการนอนหลับ ได้แก่

  • ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)
  • ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่หาสาเหตุไม่พบ หรือรักษาไม่ได้
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน เสี่ยงที่จะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะชักขณะนอนหลับ หรือเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy)
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ (ต้องการตรวจซ้ำ)
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ที่หาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ เพื่อมาตรวจดูว่าขณะนอนหลับมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่
  • ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับที่ยังรักษาไม่ได้ (ต้องการตรวจซ้ำ)
  • โดยผู้รับการตรวจควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคการนอนหลับโดยตรง หรือแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องเช่น หู คอ จมูก, อายุรแพทย์, หรือกุมารแพทย์ เพื่อสอบถามประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนและหลังการตรวจ เพื่อพิจารณาทางเลือกในการตรวจและรักษาแบบต่างๆ

    แนะนำ ผู้เข้ารับการรักษาควรพาคนที่นอนด้วยมาพบกับแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการนอนของผู้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างผู้ที่นอนด้วยจะสามารถให้รายละเอียดได้ดีกว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ


    หยุดหายใจขณะหลับทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วนwhen you should to do sleep test ควรตรวจการนอนหลับเมื่อไร

    ประโยชน์ของการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test)

    เป็นการตรวจและวิเคราะห์การนอนหลับ โดยเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน (Standard investigation) ที่ใช้ในการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของ “โรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA)”

    การตรวจการนอนหลับ สามารถช่วยต่อการวางแผนและการตัดสินใจทางเลือกในการรักษา เช่น อาจใช้ในการตั้งค่าความดันลม (Pressure titration) ในกรณีที่รักษาโรคด้วย“เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous positive airway pressure หรือ CPAP)” เพื่อขยายช่องทางเดินหายใจ หรือการปรับระดับของ “เครื่องมือในช่องปาก (Oral appliances)”

    นอกจากนี้ยังใช้พิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดทางเดินหายใจและใช้ติดตามผลการรักษา ตลอดจนช่วยในการวินิจฉัยโรคความผิดปรกติอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการนอนได้อีกด้วย

    การตรวจคุณภาพการนอนหลับ (Sleep Test) ตรวจวัดอะไรบ้าง

    การตรวจการนอนหลับที่สำคัญจะมีการติดอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณต่างๆ ที่ใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายระหว่างนอนหลับ ซึ่งประกอบด้วย

    1. การตรวจวัด การทำงานของคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

    2. การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าลูกตา (EOG)

    3. การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

    4. การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อคาง (EMG CHIN)

    5. การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา, แขน เพื่อดูภาวะการขยับหรือกระตุกของขา, แขน (EMG)

    6. การตรวจวัด การขยับขึ้นลงของทรวงอกและหน้าท้อง (CHEST , ABDOMEN)

    7. การตรวจวัด ลมหายใจทั้งทางจมูกและทางปาก (AIRFLOW)

    8. การตรวจวัด เพื่อดูเสียงกรน (SNORE)

    9. การตรวจวัด ระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อวัดดูความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SPO2)

    10. การตรวจวัด ท่าทางการนอนตลอดทั้งคืน เพื่อสังเกตท่าทางการนอน และความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นขณะหลับ เช่น การนอนละเมอ เป็นต้น (BODY POSITION)

    11. มีการถ่ายบันทึกวิดีโอเพื่อใช้ในการแปลผลตรวจการนอนหลับด้วย (VIDEO)


    Home Sleep Test

    การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) มีแบบใดบ้าง และควรเลือกตรวจอย่างไร

    การตรวจการนอนหลับ บางครั้งเรียกว่า Sleep study หรือ Polysomnography สามารถแบ่งออกได้ เป็น 4 ระดับ ตามความละเอียดของข้อมูลที่ตรวจ โดยใช้ตามนิยามของสมาคมเวชศาสตร์การนอนหลับของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Sleep Medicine หรือ AASM) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลดังนี้

    ระดับที่ 1 การตรวจสุขภาพการนอนแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน (Comprehensive technician-attended polysomnography)

    การตรวจแบบนี้จะประกอบด้วย การวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อลูกตา ใต้คาง และขา คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด ตรวจวัดการขยับของหน้าอกและท้อง และการตรวจวัดลมหายใจ เป็นอย่างน้อย โดยอาจทำภายในห้องตรวจเฉพาะของสถานพยาบาล หรือนอกสถานที่ และมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอดทั้งคืนที่ตรวจ

    ระดับที่ 2 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบสมบูรณ์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดทั้งคืน (Comprehensive-unattended portable polysomnography)

    การตรวจวิธีนี้อาจตรวจตามบ้าน ในห้องนอนของผู้รับการตรวจเองซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย หรือ ตามสถานที่พักต่างๆ ทำให้คล้ายกับการนอนในชีวิตประจำวันมากกว่า โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ให้แต่ไม่ได้เฝ้าระหว่างเวลาที่ตรวจ

    ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับ การตรวจระดับ 1 แต่มีข้อดี เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าห้องของโรงพยาบาลรวมถึง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

    นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการรอคิวตรวจน้อยกว่า โดยผู้ที่เหมาะสำหรับการตรวจวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ที่เคลื่อนไหวและเดินทางไม่สะดวก หรือผู้ที่มีอาการมากและต้องการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่ต้องรอคิวตรวจในโรงพยาบาลนานมาก เป็นต้น


    ระดับที่ 3 การตรวจสุขภาพการนอนหลับแบบจำกัดข้อมูล (Limited channel portable sleep test)

    การตรวจนี้ จะมีเพียงการตรวจ ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การวัดระดับออกซิเจนในเลือด การวัดระดับเสียงกรน บางครั้งอาจมีการวัดคลื่นหัวใจร่วมด้วย หรือการตรวจการนอนหลับจากระบบหลอดเลือดและประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น

    การตรวจแบบนี้อาจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระดับ 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจมักได้ค่าความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้วัดคลื่นสมอง จึงไม่สามารถประเมิน ประสิทธิภาพในการนอน รวมระยะความลึกของการนอน ทำให้ผลตรวจมีความแม่นยำน้อยกว่า

    การตรวจแบบระดับ 3 เหมาะสมกับการตรวจเพื่อคัดกรองโรคเกี่ยวข้องกับการนอนหลับบางประเภท อาทิ โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ

    ระดับที่ 4 การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด และหรือ วัดลมหายใจขณะหลับ (Single or dual channel portable sleep test)

    เป็นการตรวจเพียงบางส่วน และได้ข้อมูลไม่เกิน 3 อย่างเท่านั้น จึงเลือกใช้เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถตรวจในแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้เท่านั้น เนื่องจากข้อมูลที่ตรวจได้มักจะไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะนำมาใช้ยืนยันการวินิจฉัยภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับได้ แต่เหมาะสมกับการตรวจเพื่อคัดกรอง หรือวินิจฉัยเบื้องต้นเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมการนอนหลับของท่านมากขึ้น


    ความเสี่ยงหรืออันตรายของการตรวจการนอน

    การตรวจการนอนหลับ หรือ Polysomnography เป็นการตรวจแบบ Noninvasive หรือการตรวจที่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แทงหรือสอดใส่เข้าไปในร่างกาย สิ่งที่เจอได้บ่อยที่สุดของผลข้างเคียงจากการตรวจคือ การระคายเคืองผิวหนังจากวัสดุยึดติดผิว เช่น Fixomull หรือ Transpore ที่ใช้ในการติดเซ็นเชอร์กับผิวของผู้รับการตรวจการนอน

    มีผู้เข้ารับการตรวจบางคนที่กังวลว่าการตรวจวัดการนอนนั้นจะมีการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปในสมอง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิดเป็นทำให้เกิดความกังวลใจโดยไม่จำเป็น ในความจริงแล้วการวัดสัญญาณไฟฟ้าจากร่างกายนั้นจะทำโดยการวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากร่างกาย และไม่มีการส่งสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปในร่างกายแต่อย่างใด และที่สำคัญเครื่องมือจะต้องเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการทดสอบทางไฟฟ้าตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ IEC-60601 ก่อนที่นำมาใช้กับมนุษย์ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัย



    ควรเตรียมตัวสำหรับการตรวจการนอนอย่างไร

    การเตรียมตัวเพื่อตรวจการนอน (Sleep Test) ไม่ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด ประเด็นสำคัญคือการทำให้ตนเองนั้นสามารถนอนหลับได้และดี เพื่อให้ร่างกายของคุณสะสมความง่วงและพร้อมสำหรับการนอนหลับที่ดี เมื่อเข้าตรวจการนอนโดยมีข้อสำคัญในการเตรียมตัวดังนี้

  • หลังเที่ยงวัน ควรงดเว้น ชา กาแฟ หรือ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • งดเว้นการดื่มแอลกอฮอร์ในวันที่เข้ารับการตรวจการนอน
  • งดเว้นการงีบหลับในวันที่เข้ารับการตรวจการนอน
  • ไม่ใช้โลชั่น หรือน้ำมัน หรือเจลสำหรับชโลมผิว หรือ เส้นผม เพื่อให้การติดอุปกรณ์ตรวจการนอน (Sleep Test) ได้สัญญาณที่ดี และติดอุปกรณ์ได้ง่าย
  • ยาทุกชนิดที่รับประทานอยู่เป็นประจำสามารถรับประทานได้ตามปกติ ยกเว้นยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน หรือทำให้นอนหลับ เช่น ยานอนหลับ ให้แจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับให้รับทราบ ในบางกรณีแพทย์อาจขอให้งดยาชนิดนั้นหรือเปลี่ยนชนิดของยานอนหลับเพื่อให้เหมาะสมกับการตรวจ
  • การติดอุปกรณ์สำหรับการตรวจการนอน Type 1 หรือ 2 จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตรวจการนอน (Sleep Technician) ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจเข้านอนเลย ดังนั้นหากมีภารกิจต่างๆ ควรจะจัดการให้เรียบร้อยก่อนเพื่อให้สามารถนอนหลับได้อย่างไร้กังวล
  • prepare for sleep test ควรเตรียมตัวสำหรับการตรวจการนอนอย่างไร

    สรุป ปัญหาการนอนเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติจากการหลับนั้น ไม่เพียงทำให้รู้สึกไม่สดชื่น แต่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่สำคัญอีกมากมาย เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันในปอด ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคเบาหวาน และอื่นๆ สร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว

    " ความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะหลับสามารถตรวจหาได้ผ่านการตรวจ Sleep Test นำไปสู่การดูแลรักษาที่ถูกต้อง ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีอายุยืนยาวต่อไป "
    Home Sleep Test

    ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา

    Reference

    ประเมินความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ