contact-button

ติดต่อเรา

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) คืออะไร

Obstructive Sleep Apnea Symptoms and Cause: OSA by ณพสิทธิ์ 7/5/22


ภาวะหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร อันตรายแค่ไหน รักษาอย่างไร

สารบัญ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน



ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือ Sleep Apnea คืออะไร

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือชื่อเต็มคือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจขาดหายไป เรียกว่าหยุดหายใจ (Apnea) หรือ ทำให้ลมหายใจแผ่วลงกว่าปกติ เรียกว่าหายใจแผ่ว (Hypopnea) โดยเมื่อเรานอนหลับ กล้ามเนื้อในร่างกายจะผ่อนคลาย และในผู้ที่มีภาวะนี้ คือ การที่กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงคอ ผ่อนคลายจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจนั่นเอง


obstructive-apnea brain dynamics

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)

Source: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/obstructive-sleep-apnea/symptoms-causes



ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2) ลดลง และมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดเพิ่มสูงขึน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งจะกระตุ้นให้สมองต้องตื่นตัว (Arousal) ซึ่งเป็นกลไกป้องกันตนเองตามธรรมชาติ โดยจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจตึงตัวขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจร่างกายสามารถทำการหายใจ

การตื่นตัวของสมอง มักเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งอาจจะคนไข้มักไม่สามารถจดจำได้ แต่การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำๆ จะทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติแม้ว่าจะนอนตลอดทั้งคืนก็ตาม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ผู้ที่เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจึงมักมีอาการเหมือนคนอดนอน นอนไม่พอ ตื่นนอนก็ไม่สดชื่นแม้ว่าชั่วโมงการนอนจะมากหรือเพียงพอสำหรับวัยนั้นๆ ในคนผู้มีภาวะนี้หลายท่านมักมีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะเวลาตื่นนอน มีอาการสมาธิสั้น หงุดหงิด โมโห ฉุนเฉียวง่าย เสี่ยงที่จะหลับในเมื่อขับขี่ยานพาหนะ มีความเสี่ยงในที่ทำงานอาจเกิดอันตรายได้ง่ายจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนี้ยัง ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจขณะหลับที่พบได้บ่อยที่สุดซึ่งจะให้มีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ ตลอดคืน ซึ่งภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งแบบที่มีสาเหตุของการอุดกั้นชัดเจนจากรอยโรค เช่น มีเนื้องอก โพรงจมูกคด ต่อมทอลซิลโตผิดปกติ หรือแบบที่ไม่มีสาเหตุจากโรคอื่นๆ เช่น อ้วนจนช่วงคอหนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง

การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นสามารถทำได้ อาทิ การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกหรือ CPAP เพื่อเปิดทางเดินหายใจให้ไม่เกิดภาวะการอุดกั้นขณะนอนหลับ หรือ การใช้เครื่องมือทันตกรรมเพื่อดึงขากรรไกรส่วนล่างระหว่างนอนหลับให้ยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือ การผ่าตัดเพื่อขยายทางเดินหายใจก็เป็นไปได้เป็นกรณีไป



ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มีกี่ชนิด

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แยกได้เป็นสามชนิด แบ่งออกเป็น

1. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น หรือ Obstructive Sleep Apnea

ภาวะหยุดหายใจแบบแรกนี้จะพบได้เป็นส่วนมากของภาวะการหยุดหายใจทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

2. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง หรือ Central Sleep Apnea

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบที่สองคือภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยที่มีเป็น โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน ผู้ที่มีเนื้องอกในสมอง หรือ โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท ซึ่งส่งผลให้สมองหยุดสั่งการระบบการหายใจ ส่งผลให้หยุดหายใจ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลาการนอนหลับ เกิดเป็นภาวะความผิดปกติของการหายใจ

3. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับแบบผสม หรือ Mixed Sleep Apnea

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบผสม กล่าวคือจะเกิดทั้ง ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้น และเกิด ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง ในช่วงการหยุดหายใจเดียวกัน



ตัวอย่าง สัญญาณการหยุดหายใจขณะหลับ

ในหัวข้อนี้เราจะนำสัญญาณการหยุดหายใจจริงๆ มาให้ดูกันครับ โดยการหยุดหายใจนั้นเราจะพิจารณาจาก สัญญาณความร้อนจากการหายใจ FLOW TH ซึ่งจะวัดสัญญาณการหายใจจากปากและจมูก หากเส้นนี้ราบเรียบไปแสดงว่าไม่มีลมผ่านทั้งจมูกและปาก เส้นที่สองคือ P FLOW หรือ สัญญาณแรงดันลมจากจมูก หากสัญญาณจากเส้นนี้ราบเรียบไปแสดงว่าไม่มีลมผ่านเข้าออกจมูก

จากภาพแรกเราจะเห็นได้ว่า มีช่วงที่เส้น FLOW TH และ P FLOW ราบเรียบไปแสดงให้เห็นว่ามีการหยุดหายใจจากทั้งจมูกและปากนานถึง 54.5 วินาที เรียกว่า Obstructive Apnea จากนั้นเราจะมาพิจารณาเส้น RIP CHEST และ RIP ABDO ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการหายใจจากการกระเพื่อมของหน้าอกและท้อง จะเห็นว่าเมื่อมีการหยุดหายใจร่างกายยังมีความพยายามที่จะกระเพื่อมท้องและหน้าอกเพื่อหายใจแต่ว่าหายใจไม่ออก นอกจากนี้เราจะเห็นว่าระดับออกซิเจนในเลือด (SPO2) ต่ำลง ร่วมกับหัวใจ (HR) ที่เต้นเร็วขึ้น ก่อนที่จะกลับมาหายใจอีกครั้ง

obstructive-apnea brain dynamics

ในภาพที่สองนี้ ช่วงแรกนั้นเหมือนกับภาพแรกคือมีการหยุดหายใจทางจมูกและปาก นานถึง 61.4 วินาที เรียกว่า Obstructive Apnea จากนั้นเกิดภาวะสมองตื่น (Arousal) เพื่อกระตุ้นร่างกายให้หายใจ จากนั้นเราจะสังเกตเห็นว่ามีการหายใจที่ค่อยๆแผ่วลงเรื่อยๆจนเกือบจะหยุดหายใจก่อนที่จะกลับมาหายใจอีกครั้ง ในส่วนที่สองนี้เราเรียกว่าการหายใจแผ่วหรือ Obstructive Hypopnea ซึ่งจะมีอาการสมองตื่นหรือระดับออกซิเจนต่ำลงร่วมด้วย แต่ยังมีความพยายามในการหายใจจากหน้าอกและท้อง

obstructive-apnea-and-hypopnea

จากสองภาพข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างของสัญญาณการหยุดหายใจ (Apnea) และหายใจแผ่ว (Hypopnea) ซึ่งมีความอันตรายต่อสุขภาพทั้งคู่ครับ เนื่องจากในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นมักจะมีภาวะเช่นนี้หลายสิบครั้งต่อชั่วโมง และ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อเกิดการหยุดหายใจเช่นนี้ต่อไปเป็นสิบๆ ปีในระยะยาวจะทำร้ายทั้งอวัยวะภายใน หัวใจและสมองให้เกิดความเสียหายนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ



โรคหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร แตกต่างจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

คนไข้ที่มีภาวะการหยุดหายใจขณะหลับต่อเนื่องหากมากถึงจุดหนึ่งจะเรียกว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ โดยเราจะพิจาณาได้จาก ค่า AHI (Apnea Hypopnea Index) หรือค่าดัชนีที่รวมเอาจำนวนการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับรวมเข้ากับจำนวนการเกิดภาวะหายใจแผ่ว แล้วหารด้วยจำนวนชั่วโมงการนอนจริงในคืนดังกล่าว

ในคนปกติค่า AHI จะต่ำกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ มีการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และหายใจแผ่วไม่เกิน 5 ครั้งต่อชั่วโมง

  • หากค่า AHI มากกว่า 5 ครั้งต่อชั่วโมงแต่ไม่เกิน 15 ครั้งต่อชั่วโมงจะถือว่าคนไข้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแบบระดับ Mild หรือ ไม่รุนแรง
  • หากค่า AHI มากกว่า 15 ครั้งต่อชั่วโมงแต่ไม่เกิน 30 ครั้งต่อชั่วโมงจะถือว่าคนไข้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแบบระดับ Moderate หรือ ปานกลาง
  • หากค่า AHI มากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมงจะถือว่าคนไข้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแบบระดับ Severe หรือ รุนแรง
  • การที่มีการภาวะการหยุดหายใจขณะหลับรุนแรง หรือมี AHI มากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง จะขัดขวางการหลับลึกของคนไข้ ทำให้คนไข้รู้สึกเหมือนไม่ได้นอนหลับตลอดคืน และรู้สึกง่วงตลอดวัน

    ดัชนีการหยุดหายใจขณะหลับ apnea hypopnea index

    อาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับ เป็นอย่างไร

    อาการดังต่อไปนี้ เป็นอาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับ

    1. นอนกรนเสียงดังมาก

    2. สังเกตเห็นการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ระหว่างการนอนหลับ

    3. อาการสำลักระหว่างนอน

    4. อาการสะดุ้งตื่น หรือ เหนื่อยหอบเพื่อหายใจระหว่างการนอนหลับ

    5. เมื่อตื่นพบว่าปากแห้ง คอแห้ง

    6. ปวดศีรษะ หรือ มึนศีรษะเมื่อตื่นนอน

    7. ไม่มีสมาธิระหว่างวัน

    8. อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย หรือบางครั้งมีอาการซึมเศร้า

    9. ง่วงนอน อ่อนเพลียตลอดวัน

    10. ความดันโลหิตสูง

    11. ความต้องการทางเพศลดลง

    หากคุณมีการอาการเหล่านี้ควรพิจารณาเพื่อพบแพทย์เพื่อตรวจการนอนหลับ เพื่อตรวจว่าคุณเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในระยะยาวได้มาก



    ควรพบแพทย์ โรคหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อไร

    สงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรพบแพทย์ตอนไหน

    ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ที่ท่านรับการรักษาเป็นประจำ หากคุณหรือผู้ที่นอนด้วยกันพบอาการดังต่อไปนี้

    1. กรนเสียงดังที่ทำให้คู่นอนไม่สามารถนอนได้ หรือเป็นอุปสรรคต่อการนอนของผู้อื่น

    2. ตื่นขึ้นมาเพราะสำลัก หรือ หอบหายใจเพราะเหนื่อย

    3. มีอาการหยุดหายใจขณะหลับ

    4. ง่วงมากระหว่างวัน ทำให้คุณหลับในระหว่างทำงาน หรือขณะดูโทรทัศน์ หรือขณะขับขี่ยานพาหนะ

    การกรนนั้นไม่จำเป็นว่าจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับนี้ แต่มีความเกี่ยวข้องที่มีนัยสำคัญ คุณสามารถศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการกรนได้ที่ นอนกรนเกิดจากอะไร มีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

    ควรเข้าพบแพทย์เมื่อคุณมีการกรนดังมาก และเสียงกรนนั้นดังบ้างเบาบ้าง จนถึงมีการหยุดกรนเป็นระยะๆ หากคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับคุณจะกรนเสียงดังที่สุดเมื่อคุณนอนหงาย และเสียงจะเบาลงหากคุณนอนตะแคง

    สอบถามคุณหมอของคุณ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาการนอนของคุณที่ทำให้คุณรู้สึกอ่อนล้า ง่วงนอนระหว่างวัน และหงุดหงุด นอกจากนี้หากคุณมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ บางครั้งอาจจะเกิดจากความผิดปกติอื่น เช่น โรค Narcolepsy


    Home Sleep Test

    สาเหตุการเกิดภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้นขณะหลับ

    ภาวะหยุดหายใจจากการอุดกั้น (Obstrictive Sleep Apnea) นั้นเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อส่วนหลังของคอผ่อนคลายมากกว่าปกติ ซึ่งปกติกล้ามเนื้อเหล่านี้จะทำหน้าที่สนับสนุนโครงสร้างอาทิ เพดานอ่อน (เพดานปากด้านบน) ต่อมทอลซิล ลิ้น และ ลิ้นไก่

    เมื่อกล้ามเนื้อนี้ผ่อนคลายลงทางเดินหายใจจะแคบลง หรือถูกอุดกั้นโดยสมบูรณ์ ซึ่งอาจเกิดภาวะเช่นนี้ นาน 10 วินาที หรือ นานกว่า โดยภาวะการอุดกั้นเช่นนี้ จะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์คั่งและทำให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง

    เมื่อร่างกายพบว่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำหรือคาร์บอนไดออกไซด์คั่งมากกว่าที่ควรจะเป็นก็จะสั่งให้สมองตื่น หรือ Arousal เพื่อให้ตึงตัวกล้าวเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง การตื่นตัวของสมองนี้อาจจะเกิดสั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะจำไม่ได้

    คุณอาจจะตื่นขึ้นมาหายใจแรงๆ ลึกๆ สักหนึ่งหรือสองครั้ง ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้เกิดการสำลัก หรือหอบร่วมด้วย จากนั้นก็จะกลับไปกรนอีกครั้ง

    ภาวะนี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ ตลอดคืนหากเกิดขึ้นมากกว่า 5 ครั้ง ขึ้นจะต่อชั่วโมง จะจัดว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ และยิ่งหากเกิดขึ้นมากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมงจะจัดว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับระดับรุนแรงอีกด้วย โดยการอุดกั้นทางเดินหายใจนี้จะทำให้คุณไม่สามารถเข้าถึงการนอนหลับลึกได้ และแน่นอนว่าคุณจะรู้สึกง่วงระหว่างวัน

    ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่าตนเองไม่สามารถที่จะนอนหลับอย่างมีคุณภาพดีได้อันเกิดจากการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับซึ่งหากพวกเขาเหล่านั้นสามารถที่จะรักษาภาวะนี้ได้ เขาจะมีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น ไม่ง่วงระหว่างวัน สดชื่นและยังสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด และหัวใจได้อีกด้วย



    โรคอ้วนและอาการหยุดหายใจขณะหลับ sleep apnea

    ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับ

    1. น้ำหนักมาก

    ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน มีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่า แม้ว่าจะไม่ใช้ทุกคนที่น้ำหนักมากจะเปิดโรคหยุดหายใจขณะหลับ แต่ส่วนใหย่ของผู้ที่เป็นโรคนี้ ดัชนีมวลกายมากกว่าเกณฑ์ (BMI > 30)

    2. อายุมาก

    เมื่ออายุเพิ่มขึ้นยิ่งเลยวัยกลางคนขึ้นไป โอกาสเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

    3. ทางเดินหายใจแคบ

    บางคนมีเพดานอ่อนยาว หรือ ต่อมทอลซิล ใหญ่กว่าปกติ หรือ ต่อมอดีนอยด์ ใหญ่กว่าปกติ ซึ่งมีโอกาสทำให้ทางเดินหายใจแคบและนอนกรน

    4. ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

    โรคหยุดหายใจขณะหลับพบได้มากในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

    5. สูบบุหรี่

    ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีโอกาสเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าปกติ

    6. โรคเบาหวาน

    ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าปกติ

    7. เพศ

    ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าเพศหญิงประมาณสองเท่า ขณะที่เมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือน พบว่าโอกาสในการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มสูงขึ้น

    8. มีคนในครอบครัวเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

    ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับมีความเสี่ยงมากกว่าในการเป็นโรคนี้

    9. โรคหอบหืด

    ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีโอกาสเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับมากกว่าคนปกติ



    heart disease โรคหัวใจ ที่เกี่ยวกับกับการหยุดหายใจขณะหลับ

    ภาวะแทรกซ้อน ที่เกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

    โรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรง ซึ่งมีปัญหาในด้านต่างๆ ต่อตัวผู้ที่มีโรคนี้อาทิ

    1. ความรู้สึกอ่อนล้า และ ความง่วง

    เนื่องจากโรคหยุดหายใจขณะหลับทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอระหว่างที่นอนหลับ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจะรู้สึกง่วง อ่อนเพลียและรู้สึกหงุดหงิดง่าย นอกจากนี้พวกเขายังไม่สามารถที่จะมีสมาธิกับการทำงาน หรืออาจหลับในระหว่างการขับขี่ยานพาหนะ ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

    สำหรับเด็กการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้พวกเขาไม่สามารถที่เรียนรู้ที่โรงเรียนได้ดี อาจมีปัญหาในด้านสมาธิ และพฤติกรรมได้

    2. โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต และโรคหัวใจ

    ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เกิดภาวะความอิ่มตัวของออกซิเจนลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเพิ่มภาระให้แก่ระบบไหลเวียนโลหิต คนไข้ที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับมักจะเกิดโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคหัวใจตามมาได้ในระยะยาว

    โรคหยุดหายใจขณะหลับที่มีความรุนแรง เพิ่มความเสี่ยงในเการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ-ตัน โรคหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ โรคใหลตาย โรคหลอดเลือดสมองแตกตีบตัน โรคหัวใจเต้นผิดปกติ และอื่นๆ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน

    3. การใช้ยาสลบและการผ่าตัด

    ผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับต้องระมัดระวังการใช้ยาบางประเภท โดยเฉพาะยาสลบ หรือยาคลายกล้ามเนื้อที่ส่งผลกระทบให้เกิดการผ่อนตลายสำหรับทางเดินหายใจส่วนบน

    กรณีที่ผู้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องมีการรมยาสลบ และมีการให้นอนหงาย อาจจะทำให้ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นแย่ลง สำหรับผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจะต้องแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแลให้รับทราบ เพื่อที่จะให้นอนคว่ำหลังผ่าตัด หรือใส่เครื่องช่วยหายใจ หรืออัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) โดยแพทย์อาจจะให้ทำการตรวจการนอนหลับ ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด

    4. ปัญหานอนไม่หลับสำหรับผู้ที่นอนด้วยกัน

    การนอนกรนเสียงดังนั้นอาจจะทำให้ผู้ที่นอนด้วยกันเช่น สามี ภรรยา ลูก หรือคนในครอบครัว เกิดภาวะขาดการนอนหลับ (Sleep deprivation) บางครั้งอาจจะต้องแยกห้องนอน



    ถามตอบเรื่องภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และ โรคหยุดหายใจขณะหลับ obstructive sleep apnea

    ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

    1. คนในครอบครัวนอนกรน เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

    ตอบ: คนที่นอนกรนนั้นอาจจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็ได้ เพราะการกรนนั้นเป็นเพียงสัญญาณอย่างหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับ แต่หากคนที่นอนกรนนั้นมีอาการอื่น ร่วมด้วยเช่น เสียงกรนนั้น ดังๆ เบาๆ มีขาดหายเป็นช่วงๆ มีการสะดุ้งตื่น มีการสำลัก และอื่นๆ ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยคุณสามารถศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการกรนได้ที่ บทความ นอนกรนเกิดจากอะไร มีความเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่


    2. โรคหยุดหายใจขณะหลับ คือ โรคใหลตายหรือไม่ ?

    ตอบ: โรคหยุดหายใจขณะหลับ และ โรคใหลตายนั้นเป็นคนละโรคกัน โดยโรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นเกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจ ขณะที่โรคใหลตายคือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยการที่ผู้ป่วยเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นทำให้ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญขณะหลับ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนปกติมาก


    3. การนอนไม่หลับนั้นเกี่ยวข้องกับโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่

    ตอบ: การนอนไม่หลับนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เกิดจากความผิดปกติของ Circadian Rhythms , ความผิดปกติของฮอร์โมน , สิ่งแวดล้อม , หรือ แม้กระทั่งการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็อาจทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับได้ ซึ่งการรักษาโรคนอนไม่หลับต้องดูจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการนอนไม่หลับของผู้ป่วยและแก้ไข


    4. เมื่อตื่นมามึนหัว ปวดหัว เกิดจากโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ หรือเป็นสาเหตุจากโรคอื่นได้หรือไม่

    ตอบ: สาเหตุการมึนศีรษะเมื่อตื่นตอน หรือปวดศีรษะนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบบที่รุนแรงคือเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง, โรคไมเกรน, ปวดศีรษะจากการนอนผิดท่า, การนอนมากเกินไป, เมาเค้า, หรืออาจจะเกิดจาก โรคหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อค้นหาสาเหตุของความปกติ จะใช้การตรวจการนอนหลับเพื่อยืนยัน สาเหตุของปัญหาของผู้ป่วยก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาต่อไป


    5. สัญญาณแรกเริ่มของโรคหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร

    ตอบ: สัญญาณที่พบได้บ่อยที่สุดที่บอกว่าคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ คือ มีการกรนแบบอันตราย การกรนแบบอันตรายเป็นอย่างไรศึกษาได้ที่นี้ ประกอบกับการที่คุณรู้สึกว่าตื่นนอนไม่สดชื่น ง่วงนอนระหว่างวัน อ่อนเพลียตลอดเวลา หรือความดันโลหิตสูง


    6. โรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นอันตรายหรือไม่ มีความเสี่ยงจะเป็นอะไรร้ายแรงไหม

    ตอบ: โรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นเป็นโรคที่อาจจะไม่ได้ส่งผลในทันทีทันใด เหมือนดั่งกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำอุ่นที่ค่อยๆ ร้อน ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกถึง วิกฤตการณ์ที่อันตรายของตนเอง ผู้ป่วยจะค่อยๆ คุ้นชินกับความอ่อนเพลียและความง่วงระหว่างวัน ต้องอดทนกับความไม่สมบูรณ์ของสุขภาพที่ย่ำแย่ลงทุกวัน

    ซึ่งผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแบบระยะยาวนั้น จะมีปัญหาสองอย่าง อย่างแรกคือ ปัญหาประสิทธิภาพในการทำงานหรือดำรงชีวิตที่ต่ำลง ทั้งจากความอ่อนเพลีย สติสมาธิที่แย่ลง และความง่วงนอนระหว่างวัน สองคือปัญหาสุขภาพในระยะยาว มีการศึกษาว่า ผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองแตกตีบตัน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือแม้แต่ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน สูงกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรงอย่างมีนัยสำคัญ


    7. หากนอนกรนควรซื้อ CPAP มาใช้เพื่อรักษาการนอนกรนหรือไม่

    ตอบ:การเลือกซื้อเครื่อง CPAP นั้นควรอยู่ในการควบคุมและดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการโรคการนอนหลับ แต่กระนั้นหากให้ตอบว่าควรซื้อ CPAP เพื่อรักษานอนกรนหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่าอยู่ที่วัตถุประสงค์ เช่น หากต้องการซื้อมาเพื่อป้องกันโรคหยุดหายใจขณะหลับ ผมก็สามารถตอบได้เลยว่าไม่ควรซื้อ CPAP มาใช้เอง ควรตรวจและได้รับการวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ จากนั้นค่อยเลือกซื้อตามที่แพทย์แนะนำและศึกษาการใช้จากนักเทคนิคการแพทย์ที่จำหน่ายอุปกรณ์นั้น เพราะหากเราไม่ได้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ แม้ว่าจะกรนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ CPAP

    หากวัตถุประสงค์ของเราคือต้องการลดเสียงกรน ผมก็ยังไม่แนะนำให้ซื้อ CPAP มาใช้ทันที โดยสามารถลองปรึกษาผู้ให้บริการที่ช่วยบำบัดการกรน หรือการนอนหลับ เช่น บริษัท เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ แพทย์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง แม้ว่าท้ายที่สุดจะต้องใช้ CPAP แต่ก็จะได้ศึกษาอย่างครอบคลุมถึงทางเลือกต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้ CPAP และอุปกรณ์เสริมที่ใช้ร่วมกัน เพราะแม้แต่ CPAP เองก็มีหลายรุ่น หลายยี่ห้อ และมีอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันหลายหลากชนิด


    สรุป ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด และด้วยความที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือ ใกล้ตัวจนเราไม่สนใจจึงละเลยคิดว่าไม่อันตราย ทั้งที่จริงแล้วโรคนี้เหมือนระเบิดเวลาที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจซึ่งร้ายแรงอย่างเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายนี้อยากให้ทุกท่านตระหนักถึงความร้ายแรงและให้ความใส่ใจก่อนที่จะสายเกินไปครับ

    Home Sleep Test

    ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา

    Reference

    ประเมินความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ