contact-button

ตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test) คืออะไร แตกต่างจากการตรวจที่โรงพยาบาลอย่างไร

What is Home Sleep Test? by ณพสิทธิ์ 22/4/22


ตรวจการนอนหลับที่บ้าน คืออะไร

สารบัญ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกัน



การตรวจการนอนหลับที่บ้าน หรือ Home Sleep Test คืออะไร

การตรวจการนอนหลับที่บ้าน หรือ Home Sleep Test เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติจาการหลับ หรือผู้ที่มีปัญหาอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และสงสัยว่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ร่วมด้วย และต้องการตรวจการนอนหลับเพื่อยืนยัน วินิจฉัยหาสาเหตุ และวัดระดับความรุนแรงของอาการ แต่พบว่าตัวเองไม่อยากไปนอนตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ราคาแพง ไม่สามารถนอนหลับในที่ที่ไม่คุ้นเคยได้ ฯลฯ

ซึ่งการตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด ข้อดีมีมากมาย อาทิ ราคาประหยัด ไม่ต้องรอคิวนาน นอนหลับได้สนิทมากกว่าเพราะได้นอนในสถานที่ที่คุ้นเคย ทำให้ผลการตรวจการนอนใกล้เคียงกับการนอนในชีวิตจริงมากกว่าการนอนในสถานที่ๆ ไม่คุ้นเคย และรวมถึงสามารถรับฟังผลทางไกล ผ่านระบบวิดีโอคอลกับคุณหมอ (Telemedicine) เพื่อลดการเดินทาง ไม่ต้องรอคิว สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และปลอดภัยจากโควิด 19

แต่อย่างไรก็ดี การตรวจการนอนหลับแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้นก่อนตัดสินใจท่านควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินและเป็นผู้พิจารณาว่าท่านควรจะรับการตรวจแบบใด


การตรวจการนอนหลับที่บ้าน (Home Sleep Test) เหมือนหรือแตกต่างจากการตรวจในโรงพยาบาล (Hospital Sleep Test) อย่างไร

การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Home Polysomnography) มีข้อเหมือนและแตกต่างกับการตรวจในโรงพยาบาล ดังนี้

1. เป็นการตรวจในระดับความละเอียดที่เทียบเท่ากัน

การตรวจที่บ้านและที่โรงพยาบาล จะมีการวัดสัญญาณต่างๆ ที่จำเป็นและเป็นไปตามข้อกำหนดจาก American Academy of Sleep Medicine (AASM) เหมือนกัน เช่น การวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อลูกตา (EOG) การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อคาง (EMG) คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ลมหายใจ การเคลื่อนไหวของทรวงอก เป็นต้น โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาการตรวจโรคการนอนหลับส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจแบบ Home Polysomnography

2. ได้รับการวิเคราะห์โดยเจ้าหน้าที่เทคนิคและแพทย์โรคการนอนหลับ

เมื่อตรวจการนอนเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่เทคนิคผู้ดำเนินการตรวจการนอน จะนำผลที่ได้จากการวัดมาอ่านวิเคราะห์และส่งผลต่อให้แพทย์โรคการนอนหลับเพื่อทำข้อสังเกตและผลการวินิจฉัย เมื่อสรุปผลเรียบร้อยแล้ว รายงานการตรวจการนอนหรือ Sleep Study Report จะถูกส่งต่อกลับไปยังแพทย์เจ้าของไข้เพื่อนำไปกำหนดแผนการรักษาต่อไป

3. การตรวจที่บ้านจะใช้เครื่องมือแบบพกพา

ซึ่งเป็นเครื่องตรวจที่สามารถวัดสัญญาณได้เหมือนเครื่องขนาดใหญ่ในโรงพยาบาล เพียงแต่อาจมีเฉพาะช่องสัญญาณที่จำเป็น และเป็นไปตามข้อบังคับของ AASM เท่านั้น โดยจะมีขนาดเครื่องที่เล็กลง สามารถรัดติดกับตัวผู้ที่รับการตรวจได้ ทำให้สามารถเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือได้สะดวก และในบางกรณีก็อาจจะมีการวัดหลายพารามิเตอร์ที่เทียบเท่าหรือมากกว่าการตรวจปกติในโรงพยาบาล ซึ่งสำหรับ ระบบตรวจที่พัฒนาโดย เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี ที่ให้บริการโดยศูนย์ชีวานิทราเวช นั้นเป็นแบบกรณีที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เทียบเท่ากับและแม่นยำเหมือนการตรวจในโรงพยาบาล

4. การตรวจที่บ้านโดยทั่วไปจะไม่มีคนเฝ้า

ซึ่งแตกต่างกับการตรวจในห้องของโรงพยาบาลที่จะมีคนเฝ้าตลอดทั้งคืน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการตรวจที่บ้านผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถจะมีคนไปเฝ้าในห้องนอนของผู้ป่วยได้ จุดประสงค์ที่ต้องมีคนเฝ้าก็คือเพื่อคอยดูแลไม่ให้อุปกรณ์ต่างๆ หลุดออกมาระหว่างการตรวจ แต่ทั้งนี้การตรวจที่บ้านจะใช้เครื่องขนาดพกพา ซึ่งรัดติดกับตัวผู้ป่วยอย่างแน่นหนา หากเจ้าหน้าที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี อุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีโอกาสหลุดได้ยากมากครับ

แต่กระนั้นในหลายครั้งผู้ป่วยก็มักอุปกรณ์หลุด ผู้สูงอายุ คนที่นอนดิ้น หรือเด็ก และโรคบางประเภท ดังนั้นสำหรับ เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี มีบริการมีคนเฝ้าและติดอุปกรณ์เสริมได้ในบางกรณี ตามแพทย์สั่ง


ข้อดี และข้อจำกัด ของการตรวจการนอนที่บ้าน (Home Sleep Test) คืออะไร

ข้อดี

  • มีราคาถูกกว่าการตรวจในโรงพยาบาล
  • ผู้เข้ารับการตรวจสามารถนอนหลับได้ผ่อนคลายและสนิทมากกว่า เนื่องจากได้นอนในห้องนอนของตัวเอง
  • มีความเป็นส่วนตัวเพราะไม่ต้องมีคนเฝ้าดูเราตอนนอน บางท่านอาจนอนไม่หลับหากมีคนมานอนเฝ้า
  • ผลการตรวจที่ได้มีความแม่นยำ และใกล้เคียงกับการนอนในภาวะปกติของเรามากที่สุด
  • เมื่อนอนต่างที่ เช่น นอนตรวจที่โรงพยาบาล บางท่านนอนไม่หลับหรือส่วนใหญ่มักจะนอนหลับไม่สนิท ทำให้ผลตรวจมีความคลาดเคลื่อน บางกรณีอาจต้องทำการตรวจใหม่อีกครั้ง ทำให้เสียเงินเพิ่มมากขึ้น
  • การตรวจการนอนที่บ้านที่ได้มาตรฐานจะสามารถนำผลตรวจที่ได้รับไปปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใดก็ได้ตามที่ท่านต้องการได้เช่น โรงพยาบาลประจำที่รักษาตัวอยู่แต่ไม่มีการตรวจ Sleep Test แต่หากตรวจในโรงพยาบาลอื่นๆ ก็จะต้องพบแพทย์ในโรงพยาบาลนั้นเท่านั้น
  • ไม่ต้องรอคิวตรวจนานและนัดวันตรวจได้ตามวันเวลาที่สะดวก ขณะที่ในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่งมีคิวรอตรวจนานหลายเดือนและเราไม่สามารถเลือกวันที่ต้องการตรวจเองได้ หรือหลายครั้งนัดนานจนลืมไปเลยว่ามีการตรวจ
  • กำหนดเวลาการตรวจได้ตามตารางชีวิตของเราจริงๆ ทำให้ได้ผลที่แม่นยำมากกว่าและไม่มีผลกระทบต่อชีวิตเรามากนักเหมือนการใช้ชีวิตปกติ เช่น เราเข้านอนปกติเวลาเที่ยงคืนก็สามารถนัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจการนอนเวลาในพอดีกับเวลานอนของเราได้ ขณะที่หากเราตรวจที่โรงพยาบาล เวลาการตรวจการนอนมักจะเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าเวรและออกเวร เช่น ติดอุปกรณ์สองทุ่ม ให้นอนสี่ทุ่ม ตื่นตีห้าครึ่ง
  • ผู้ป่วยบางท่านไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้หรือเคลื่อนย้ายไม่สะดวก เช่น เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่แข็งแรง หรืออายุมาก เป็นต้น การตรวจการนอนหลับที่บ้านจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในกรณีนี้
  • มีความปลอดภัยมากกว่าสำหรับผู้ป่วยบางรายที่อาจติดเชื้อได้ง่าย หากมาโรงพยาบาล
  • ในบางผู้ให้บริการมีทางเลือกในการพบแพทย์ทางไกล หลับการตรวจการนอน โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง โดยเฉพาะหากจังหวัดของท่านไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ

  • ข้อจำกัด

  • มีบ้างบางครั้งที่อุปกรณ์หรือเซนเซอร์บางชิ้นหลุดระหว่างคืน เนื่องจากการตรวจที่บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าดังนั้นหากอุปกรณ์หลุดจะไม่ได้รับแก้ไขทำให้ได้ผลไม่ครบถ้วน
  • ในบางโรคเกี่ยวกับการนอนนั้นตรวจที่โรงพยาบาลจะเหมาะสมกว่า เช่น โรคนอนละเมอ หรือ โรคแขนขากระตุกขณะหลับ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมตลอดคืน ทำให้เข้าใจปัญหา หรือ อาการของผู้ป่วยได้มากกว่า
  • อุปกรณ์เสริมบางชนิดเหมาะกับการใช้ที่โรงพยาบาลมากกว่า เช่น กล้องวงจรปิด เครื่องวัด CO2 คั่ง ที่จะใช้งานตามคำสั่งแพทย์สำหรับผู้ป่วยบางราย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการการดูแลพิเศษ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจที่โรงพยาบาลมากกว่า

  • โดยสรุป การตรวจการนอนที่บ้านมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่นกัน การเลือกผู้ให้บริการตรวจการนอนที่บ้านควรปรึกษาผู้ให้บริการตรวจการนอนที่บ้านแต่ละเจ้าเสียก่อนว่ามีทางเลือกหรือข้อจำกัดเช่นไรบ้าง อย่างไรก็ตามการเลือกผู้ ให้บริการตรวจการนอนที่ได้มาตรฐานครอบคลุมการตรวจสำหรับโรคการนอนหลับและควบคุมโดยแพทย์เฉพาะด้านการนอนหลับที่เชื่อถือได้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและแก้ปัญหาการนอนหลับของเราและคนที่เรารักได้จริงๆ

    ในปัจจุบันการตรวจการนอนที่บ้านนั้นพัฒนาไปมาก ราวกับยกห้องปฏิบัติการตรวจการนอนหลับไปที่บ้านเลยทีเดียว สามารถตรวจได้ครอบคลุมเกือบทุกโรคจากการหลับ นอกจากนี้ในบางผู้ให้บริการ เช่น เบรน ไดนามิกส์ และศูนย์ชีวานิทราเวชเอง ยังมีการให้บริการตรวจการนอนที่บ้านแบบชนิดที่ใกล้เคียงกับการตรวจที่โรงพยาบาลมากขึ้น เช่น การให้บริการเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนแบบเฝ้าที่บ้าน การพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การทดลอง CPAP ที่บ้าน และอื่นๆ ซึ่งให้ผลการตรวจและรักษาไม่แตกต่างจากการรับบริการที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการให้ได้รับความสะดวกสบายและได้รับผลการตรวจการนอนใกล้เคียงกับความเป็นอยู่จริงมากที่สุด

    Home Sleep Test

    การตรวจการนอนที่บ้าน (Home Sleep Test) มีชนิดไหนบ้าง

    1. การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบสมบูรณ์ (Home Sleep Test Type 1)

    คือ การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบสมบูรณ์โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดคืน (Comprehensive technician-attended polysomnography) การตรวจการนอนหลับแบบนี้จะประกอบด้วย 7 ช่องสัญญาณ (channel) เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นตามมาตรฐานสากล ได้แก่

  • การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)
  • การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าลูกตา (EOG)
  • การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
  • การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อคาง (EMG CHIN)
  • การตรวจวัด คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา, แขน เพื่อดูภาวะการขยับหรือกระตุกของขา, แขน (EMG LEG / ARM)
  • การตรวจวัด การขยับขึ้นลงของทรวงอกและหน้าท้อง (CHEST / ABDOMINAL MOVEMENT)
  • การตรวจวัด ลมหายใจทั้งทางจมูกและทางปาก (AIRFLOW)
  • การตรวจวัด เสียงกรน (SNORE)
  • การตรวจวัด ระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อวัดดูความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SPO2)
  • การตรวจวัด ท่าทางการนอนตลอดทั้งคืน เพื่อสังเกตท่าทางการนอน และความผิดปกติทางพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นขณะหลับ เช่น การนอนละเมอ เป็นต้น (BODY POSITION)
  • มีการถ่ายบันทึกวิดีโอเพื่อใช้ในการแปลผลตรวจการนอนหลับด้วย (VIDEO)
  • การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบสมบูรณ์ เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำสูงสุด โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการนอนหลับตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ การตรวจชนิดนี้จะยังแบ่งออกเป็นการตรวจย่อยได้อีก 2 แบบ ได้แก่

    1. Full night sleep test เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (sleep related breathing disorder, SBD) และโรคที่มีความผิดปกติในขณะหลับ อื่นๆ (sleep disorder) โดยมีการตรวจแบบทั้งคืน

    2. Split night sleep test เป็นรูปแบบการตรวจที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน มีวิธีการคือ จะแบ่งการตรวจเป็น 2 ส่วนภายในการตรวจเพียงคืนเดียว ซึ่งครึ่งคืนแรกจะเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการนอนหลับใน ขณะที่ครึ่งคืนหลังจะใช้ในการรักษาและปรับตั้งเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP titration)

    full-night-sleep-test
    split-night-sleep-test

    2. การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Home Sleep Test Type 2)

    คือ การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด หรือ Home Sleep Test Type 2 ซึ่งเป็นการตรวจที่มีความละเอียดเทียบเท่ากับการตรวจในโรงพยาบาลเพียงแต่ไม่มีคนเฝ้า

    ลักษณะของการตรวจแบบนี้มีส่วนประกอบและข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือได้ใกล้เคียงกับ การตรวจระดับ 1 แต่มีข้อดี เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องค่าห้องของโรงพยาบาลรวมถึง ประหยัดเวลาในการเดินทาง นอกจากนี้ยังใช้เวลาในการรอคิวตรวจน้อยกว่า

    การตรวจการนอนที่บ้าน นี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการความส่วนตัว เนื่องจากหากเป็นการตรวจที่โรงพยาบาลนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตลอดเวลาทำให้หลายคนนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท, ผู้ที่นอนต่างที่แล้วนอนหลับได้ยาก, ผู้ที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก ฯลฯ

    ผู้ที่ไม่เหมาะที่จะตรวจการนอนที่บ้าน อาทิ ผู้ที่มีปัญหาทางจิตไม่สามารถควบคุมสติได้ เด็กเล็กที่ต้องการการดูแลพิเศษ หรือผู้ที่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจเพิ่มเติม

    มีข้อจำกัดในเรื่องของโรค เนื่องจากบางโรคนั้นต้องมีเจ้าหน้าที่เฝ้าเพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้เข้ารับการตรวจตลอดคืนประกอบการวินิจฉัย เช่น โรคนอนละเมอ โดยการที่จะตรวจที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลแนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจการนอนหลับเพื่อวางแผนแนวทางการตรวจและรักษาต่อไป


    3. การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบประหยัด (Home Sleep Test Type 3)

    คือ การตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบประหยัด หรือ Sleep Test Type 3 หรือการตรวจการนอนหลับแบบคัดกรอง (Sleep Disorder Screening) เกณฑ์ในการตรวจคือตรวจวัดตัวแปรสำคัญ 4-7 ช่องสัญญาณ

    การตรวจแบบนี้จะเน้นการตรวจระบบการหายใจ เช่น ลมหายใจเข้าออก ความพยายามในการหายใจจากการเคลื่อนที่ของหน้าอกและท้อง ระดับออกซิเจนในเลือด แบะอื่นๆ กล่าวโดยรวมๆ คือจะมีการตรวจวัดสัญญาณต่างๆ คล้ายกับการตรวจการนอนหลับในโรงพยาบาล แต่ไม่มีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) กล้ามเนื้อลูกตา (EOG) และกล้ามเนื้อคาง (EMG) จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้รับการตรวจอยู่ในระยะการนอนหลับหรือตื่น (Sleep stage) โดยการตรวจนี้จะเน้นดูการหยุดหายใจ และความพยายามในการหายใจของผู้เข้ารับการตรวจเพื่อแยกแยะโรคเกี่ยวกับการนอนหลับบางประเภท

    ผู้ที่เหมาะกับการตรวจแบบ Type 3 นี้ ได้แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ในระดับความรุนแรงตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป แต่ไม่สามารถรอคิวนานๆ ได้ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษาหลังการผ่าตัด การใช้เครื่องอัดอากาศ CPAP หรือการลดน้ำหนักได้

    การตรวจวิธีนี้ก็มีโอกาสที่ผลตรวจจะคลาดเคลื่อนได้บ้าง ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับแต่ผลการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่พบความผิดปกติ หรือผู้ที่มีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคระบบประสาทกล้ามเนื้อ หรือผู้ที่สงสัยว่าจะมีโรคความผิดปกติจากการนอนหลับอื่นๆ เช่น โรคขากระตุกขณะหลับ โรคลมหลับ ควรได้รับการตรวจด้วยวิธีมาตรฐานในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน (Type 2) เท่านั้น


     home-sleep-test-type-3

    ข้อควรรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการตรวจการนอนหลับ (Home Sleep Test)

    ในปัจจุบัน โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลในสังกัดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มักมีห้องตรวจสุขภาพการนอนมาตรฐานระดับ 1 ซึ่งสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่มีอยู่ เช่น ข้าราชการ, สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิประกันสุขภาพที่มีใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยผู้รับการตรวจควรสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนหรือเอกสารที่จำเป็นก่อนการนัดตรวจ

    สำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ค่าใช้จ่ายในตรวจของโรงพยาบาลรัฐ จะอยู่ที่ประมาณ 8,000 – 12,000 บาท โดยในกรณีที่การตรวจในโรงพยาบาลรัฐ ต้องรอคิวตรวจนาน โดยเฉลี่ย 3-6 เดือนขึ้นไป และซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต

    ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจการนอนหลับ อื่นๆ คือการตรวจที่ห้องตรวจการนอนของโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายโดยประมาณคือ 13,500 - 45,000 บาท หรือ ทางเลือกในการตรวจโดยผู้ให้บริการการตรวจการนอนหลับที่บ้าน ค่าใช้จ่ายเริ่มต้นโดยประมาณที่ 8,900 บาท ในการตรวจแบบ Home Sleep Test type 2

    กรณีนี้ ผู้รับการตรวจอาจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาทางเลือกในการตรวจระดับอื่นทดแทนตามความเหมาะสม เช่น อาจติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อนัดวันและเวลาในการตรวจ ระดับ 2 ในสถานที่พักส่วนตัวตามความสะดวกเอง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ได้ผลใกล้เคียงกับการตรวจในโรงพยาบาลมาก แต่มีความสะดวกสบาย และประหยัดมากกว่า

    หรืออาจพิจารณาเลือกตรวจสุขภาพการนอนหลับในสถานพยาบาลเอกชนที่แปลผลด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ จึงจะได้ผลที่น่าเชื่อถือมากพอ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งผู้รับการตรวจควรศึกษาเรื่องสิทธิการรักษา เช่น การเบิกสินไหมประกันชีวิตที่ตนมีอยู่ด้วย

    ทั้งนี้ผู้รับการตรวจควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง เพื่อที่จะได้ข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญอย่างแท้จริงสำหรับวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโรคได้อย่างคุ้มค่า ในระยะยาวต่อไปในอนาคต


    คำถามการนอนหลับที่บ้าน

    ถามตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจการนอนหลับที่บ้าน

    1. ตรวจการนอนหลับที่บ้านแตกต่างจากการตรวจที่โรงพยาบาลอย่างไร

    ตอบ: การตรวจทั้งสองแบบนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่าง

  • ความเหมือน: หากเป็นการตรวจแบบละเอียดเหมือนกัน

  • 2. ปกติมีคนด้วย สามารถตรวจการนอนหลับได้หรือไม่

    ตอบ: ในคืนที่ทำการตรวจการนอนหลับ แนะนำให้นอนคนเดียวจะดีกว่าครับ เพื่อให้ได้ผลที่เที่ยงตรงสำหรับการตรวจการนอน


    3. ต้องพบแพทย์ก่อนตรวจหรือไม่

    ตอบ: แบ่งได้เป็นสองกรณีที่พบแพทย์ก่อน หรือไม่พบแพทย์ก่อน ทั้งสองกรณีนั้นสามารถทำได้ โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือการพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับ หลังได้รับผลการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Study Report แล้ว

  • กรณีที่ 1 การพบแพทย์ในสาขาใดๆ ก่อนตรวจจะเป็นการประเมินเพื่อนำไปสู่ข้อสงสัยว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากการนอนหลับ ควรตรวจการนอนหลับ โดยปกติหากผู้ป่วยที่มาจากโรงพยาบาล หรือ คลีนิคเฉพาะทางจะพบแพทย์มาก่อนแล้ว
  • กรณีที่ 2 คือการที่ผู้เข้ารับการตรวจสงสัยว่าตนเองนั้นอาจจะมีโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ อาจปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ หรือคัดกรองจากแบบประเมินมาตรฐานด้านคุณภาพการนอนหลับ แล้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากการนอนหลับสามารถเข้าตรวจการนอนหลับได้ก่อน จากนั้นจึงนำผลไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ

  • 4. ต้องนอนกี่ชั่วโมงถึงจะได้ผลการตรวจการนอนหลับที่เพียงพอ

    ตอบ: ต้องนอนหลับ (สัญญาณสมองแสดงว่าหลับ) อย่างน้อย 6 ชั่วโมง


    5. ถ้านอนไม่หลับในคืนที่ตรวจการนอนหลับที่บ้าน จะตรวจได้หรือไม่

    ตอบ: ต้องนอนหลับ (สัญญาณสมองแสดงว่าหลับ) อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือใกล้เคียงขึ้นไป หากมีกรณีที่นอนไม่หลับจริงๆ อาจต้องทำการตรวจใหม่ เพื่อให้นำไปสู่การวินิจฉัยโรคการนอนที่ถูกต้อง ดังนั้นหากมีแผนการจะตรวจการนอนหลับให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำขั้นตอนการเตรียมตัวที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถนอนหลับได้ หรือในบางกรณีที่นอนหลับยากแพทย์จะสั่งยานอนหลับเฉพาะที่ใช้กับการตรวจการนอนหลับไว้ให้เพื่อช่วยในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจการนอน


    6. ต้องรอผลกี่วัน

    ตอบ: หลังตรวจการนอนหลับ สามารถฟังผลจากแพทย์ได้ภายใน 7 วัน หลังตรวจการนอนหลับโดยศูนย์ชีวานิทราเวชครับ


    7. ทำไมต้องตรวจการนอน สามารถซื้อ CPAP มาใช้เลยได้มั้ย

    ตอบ: โรคการนอนมีหลากหลากชนิด และปัญหาที่เราพบเจอนั้นอาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ การวินิจฉัยอย่างถูกต้องจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกวิธี การใช้ CPAP เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามาตรฐานซึ่งอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน หรือ ทุกโรคการนอนหลับ


    8. เวลาตรวจการนอนจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าหรือไม่

    ตอบ: หากเป็นการตรวจการนอนแบบละเอียดที่บ้านหรือ Home Sleep Test Type 2 นั้นจะไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า ซึ่งในประชากรที่มาตรวจการนอนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ เว้นแต่หากมีข้อบ่งชี้พิเศษ เช่น เป็นโรคอัลไซเมอร์ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือดิ้นมาก อาจจะพิจารณาให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจการคอยเฝ้าในคืนที่ตรวจ แต่กระนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับจากการตรวจการนอนที่บ้านแบบปกติ


    9. ถ้าตรวจการนอนเสร็จแล้วจะรักษาอย่างไร

    ตอบ: การรักษาทำได้หลายวิธีตามแต่โรคหรือปัญหาของผู้ป่วย เช่น หากเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งแพทย์แนะนำให้ใช้ CPAP ทางศูนย์ชีวานิทราเวชจะมีเจ้าหน้าที่นำเครื่อง CPAP ไปให้ทดลองการรักษาที่บ้านผู้ป่วย หรือเรียกว่า Home CPAP Tritration หรือกรณีอื่นเช่น เป็นโรคนอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้เข้าทำกิจกรรมบำบัด หรือ CBT ซึ่งสามารถจะนัดพบกับนักจิตวิทยาได้ทั้งที่โรงพยาบาล หรือจะเป็นการพบออนไลน์ก็ได้ ดังนั้นโดยสรุปการรักษาจะดำเนินการหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับการนอนหลับแล้ว และอาจจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามปัญหาแต่ละคน


    สรุป การตรวจการนอนหลับที่บ้าน มีหลายชนิดและสามารถเลือกตรวจได้เพื่อวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติจากการนอน ในปัจจุบันการตรวจการนอนหลับที่บ้านนั้นมีความแม่นยำและมีคุณภาพเทียบเท่าการตรวจที่โรงพยาบาล
    Home Sleep Test

    ปรึกษาปัญหาโรคจากการหลับ ต้องการตรวจการนอนหลับศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริการของเรา

    ประเมินความเสี่ยงโรคหยุดหายใจขณะหลับ